กูรูชี้ 9 จุดเสี่ยงเศรษฐกิจ-ส่งออกไทยปี 67 หนี้ครัวเรือน-ภูมิรัฐศาสตร์ฉุด

21 ธ.ค. 2566 | 12:21 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 12:34 น.

นักวิชาการชี้เศรษฐกิจ-ส่งออกไทยปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังมี 9 จุดเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หนี้ครัวเรือน 19 ล้านล้านฉุดกำลังซื้อ เศรษฐกิจจีนโตต่ำกระทบเที่ยวไทย ขณะ 9 ธุรกิจเสี่ยงปิดกิจการเพิ่ม

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะฟื้นตัว และมีอัตราการขยายตัวอยูที่ 2.5-3.1% จากปี 2566 คาดจะขยายตัว 2.2%  ส่วนภาคการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศคาดจะขยายตัวได้ 2.2-2.5% จากปี 2566 ที่คาดจะติดลบที่ 1.8% อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าที่เป็นตัวแปรที่ต้องเฝ้าระวังที่อาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจและการส่งออกไทยในปี 2567 อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

โดยความเสี่ยงหรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตามลำดับคือ ภาคการส่งออกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ, ปัจจัยเสี่ยงต่อการบริโภคคือหนี้ครัวเรือนที่สูง, ปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนคืออัตราดอกเบี้ย และนโยบายการลงทุน, และปัจจัยเสี่ยงภาคการท่องเที่ยว เฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว และนักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวไทย

ทั้งนี้โดยสรุปจุดเสี่ยงเศรษฐกิจและการส่งออกไทยในปี 2567 มีใน 9 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวติดต่อกันต่อเนื่อง 3 ปี และในปี 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.9% และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.7% โดยประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจโต 1.4% และตลาดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาโต 4%

2.หนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจขยายตัวลดลง โดย ณ ปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนรวม 19 ล้านล้านบาท (หนี้ในระบบและนอกระบบ)

3.การปิดตัวของธุรกิจไทย โดย 9 ธุรกิจที่มีความเสี่ยงปิดกิจการมากขึ้นในปี 2567 ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจรถมือสอง ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน(มอเตอร์ไซค์และรถยนต์) ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและกล่องกระดาษ ธุรกิจอาหารแช่แข็งขายในตลาดสด(พ่อค้าแม่ค้าหมูแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง ปลาแช่แข็ง) ธุรกิจค้าปลีกห้องแถว(ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว) ธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตรแบบล้าสมัย และธุรกิจสิ่งทอที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์

4.สงครามภายใต้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อการส่งออกไทย รวมถึงในเรื่องราคาน้ำมัน การค้า และการขนส่งทางเรือ 5.อัตราดอกเบี้ยผันผวนมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน 6. ศักยภาพการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ( FDI) ต่ำ โดยสินค้าส่งออกไทยอยู่ในกลุ่ม “ ศักยภาพต่ำสุด” และ FDI ไทยยังติดหล่ม โดยยังอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

7.ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ปี 2566 ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีน 16.2% ต่อจีดีพี ขณะที่เศรษฐกิจจีนในปี 2567 คาดจะชะลอตัวอยู่ที่ 4.2% 8.เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ทำให้มีมูลค่าลดลง และ 9.ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทนสูงขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน