เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ภายใต้ปัจจัยตัวแปรภายในและภายนอกประเทศ

16 ธ.ค. 2566 | 09:00 น.

เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ภายใต้ปัจจัยตัวแปรภายในและภายนอกประเทศ : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย... ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3949

การที่จะประเมินภาวะเศรษฐกิจ ปีพ.ศ. 2567 คงต้องมองย้อนหลังกลับไปดูเศรษฐกิจปี 2566 ช่วงต้นปีวาดฝันประเมินว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.6 หน่วยงานรัฐบางแห่งกล่าวไปถึงเกินร้อยละ 4.0 ณ เวลานี้ ประเมินว่า อย่างเก่งขยายตัวคงได้ประมาณไม่เกินร้อยละ 2.5 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565) 


เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ภาคการส่งออกอาจหดตัวติดลบ ร้อยละ 1.62 การลงทุนรวมขยายตัวในอัตราต่ำมากเพียง ร้อยละ 1.3 เป็นการลงทุนของภาคเอกชน ขยายตัว ร้อยละ 2 การลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ 0.8

ขณะที่กำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) ประมาณร้อยละ 62-64 เป็นผลจากคำสั่งซื้อทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศซบเซา โดยเฉพาะเป็นการผลิตที่ไม่มีการเก็บสต็อก สะท้อนจากการนำเข้า (ม.ค.-ต.ค.) สินค้าทุนและเครื่องจักรหดตัวร้อยละ 10.6 และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตหดตัวร้อยละ 10.9 

ปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยอยู่ในอาการซึม คือ ภาวะเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 4/2566 เงินเฟ้อหดตัวคาดว่าทั้งปี อาจเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.2-1.4 แสดงให้เห็นถึงความซบเซาของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนราคาสินค้าที่ต่ำจากอุปทานส่วนเกิน คือ ปริมาณสินค้า หรือ ผู้ขายของมากกว่าคนซื้อ 

เงินเฟ้อที่ต่ำอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.5 อาจไม่ปรับสูงขึ้นกว่านี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และธนาคารกลาง (FED) ยังไม่มีท่าทีที่จะลดดอกเบี้ย เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ต้องการให้ลดลง 

ปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจ ของปี 2566 คือ รายได้ภาคท่องเที่ยวที่ถึงเป้าหมายทั้งปีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีประมาณ 28.028 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้ 1.314 ล้านล้านบาท 

สำหรับปี 2567 ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวเกิน 35 ล้านคน รายได้รวม 3.3 ล้านล้านบาท โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มจาก 3 ล้านคนเศษ มาเป็น 8 ล้านคน ซึ่งค่อนข้างเป็นความท้าทาย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะอ่อนแอจากการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และเดือนตุลาคมถึงขั้นเงินเฟ้อของจีนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบประวัติการณ์ 

การที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และคนไทยมีการเที่ยวใกล้เคียงกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด19 ส่งผลให้ถึงแม้เศรษฐกิจจะมีภาวะซบเซา แต่การบริโภคของประชาชนยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6 

ทิศทางเศรษฐกิจ ปี 2567 มีการคาดการณ์ต่างกันออกไปจากค่าเฉลี่ยของหน่วยงานรัฐ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.2 และค่าเฉลี่ยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจภาคเอกชน ขยายตัวได้ร้อยละ 3.075 การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องบูรณาการ กับ บริบทเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยสำคัญ 

เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งการนำเข้า-ส่งออก-ท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางและความอ่อนไหวจากหลายปัจจัย ธนาคารโลก หรือ World Bank ประเมินเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราต่ำ ประมาณร้อยละ 2.4-2.7 (ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.1) ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย เศรษฐกิจล้วนขยายตัวต่ำกว่าปี 2566  

ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย ปี 2567 มีความเปราะบางและไม่แน่นอนจากภาวะความเสี่ยงที่มาจากภายนอก เป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า และ อาจซบเซามากกว่าปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคส่งออก จะสามารถกลับมาเป็นบวก และภาคท่องเที่ยวจะมีการเติมเต็มทั้งปริมาณและมูลค่าได้เท่ากับ หรือ มากกว่าช่วงก่อนโควิด 19 

                               เศรษฐกิจไทย ปี 2567 ภายใต้ปัจจัยตัวแปรภายในและภายนอกประเทศ

ขณะที่การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ ที่หดตัวเกี่ยวข้องกับงบประมาณของรัฐ ที่ติดหล่มค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภา อาจต้องไปถึงเกือบกลางปีจึงจะสามารถใช้เงินได้ ปัญหาทางโครงสร้างของไทย คือ หนี้ครัวเรือนที่สูงจนกลายเป็นวิกฤต จากข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโรไตรมาส 3/2566 สินเชื่อครัวเรือนมีจำนวน 13.5 ล้านล้านบาท 

ประเด็นที่น่ากังวลไม่ใช่ไปแก้หนี้หยุมหยิม แก้หนี้นอกระบบ แต่ต้องเข้าไปแก้ไส้ใน พบว่าเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ไม่ชำระต้น-ดอกเกิน 90 วันเป็นหนี้ “Bad Debt” มูลหนี้ถึง 1.047 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอยู่ในโครงสร้างหนี้ร้อยละ 7.78 

ขณะที่หนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างมาถึง 3 รอบที่เรียกว่า “Trouble debt restructure” มีมูลหนี้รวมกัน 9.931 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนอยู่ในโครงสร้างหนี้ร้อยละ 7.35 ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ซื้อบ้าน หนี้ส่วนบุคคล หนี้ซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ และ หนี้เครดิตการ์ด หนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นเรื่องหนึ่งแต่หนี้เสีย หรือ หนี้ที่ปรับโครงสร้างแบบซ้ำซาก มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 15.1 ของหนี้ทั้งระบบ หากไม่เรียกว่าเป็นวิกฤตแล้วจะเรียกว่าอะไร 

การก้าวผ่านของประเทศไทยคงไม่เกี่ยวข้องกับวลีสวยๆ หรือ นโยบายเศรษฐกิจที่เลื่อนลอย ประเทศไทยเหมือน “คนป่วยติดเตียง” GDP ในช่วง10 ปี โตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.8 ต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีดีพีช่วง 10 ปีของไทย เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.2 เวียดนาม ร้อยละ 7.5 มาเลเซีย ร้อยละ 2.6 และ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4.0 

จีดีพีที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ส่งผลต่ออัตราการเติบโตรายได้ต่อหัว หรือ “Income per Capita” เพิ่มในอัตราค่อนข้างต่ำ เพียงร้อยละ 1.5 ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 ปี ประมาณร้อยละ 1.7 ข้อมูลนี้บ่งบอกถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอ และ การลดน้อยถอยลงของขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจ 

ประเด็นสำคัญ คือ การติดกับดักเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่ำ ทำให้ต้องใช้แรงงานเข้มข้นในสัดส่วนที่สูง ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ขาดแรงงานจำนวนมาก ประเด็นที่สำคัญ คือ การติดหล่มหนี้ครัวเรือน ซึ่งไส้ในเป็นหนี้เสีย และหนี้ปรับโครงสร้างซ้ำซาก 

ที่กล่าวมาเป็นความท้าทายของรัฐบาล และ ประเทศไทย จะมีภูมิสามารถรับมือกับผลกระทบที่เป็น “สึนามิ” มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว หรืออาจเลวร้ายกว่าเดิม....