ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้หนี้เสียครัวเรือน ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

22 พ.ย. 2566 | 16:24 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 15:28 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ การท่องเที่ยว-มาตรการรัฐลดค่าครองชีพ หนุนการบริโภคในประเทศ ไตรมาส 4 ปีนี้ ห่วงหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษไตรมาส 3 ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซ้ำเติมการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่า คุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย แต่ยอดคงค้างของสินเชื่อด้อยคุณภาพ(non-performing loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.95 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.70% ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) ลดลงจาก 6.08% ในไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 5.84% 

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับมุมมองการเติบโตของศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากประมาณการเดิม 3.0% โดยทิศทางไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากฤดูการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกที่จะขยายตัวเป็นบวกตามฐานที่ต่ำในปีก่อน แม้จะเผชิญปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกของไทยจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ีจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม หากเทียบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทีีเพิ่งขยับตัวเพียง 1% จากระดับก่อนโควิด-19 เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่นที่เติบโตแซงจุดเดิมได้แล้วเกือบ 20% ส่วนตัวมีข้อสังเกตุว่า หนี้เอ็นพีแอลที่เป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19  ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 39% อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วหรือยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึง

โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนและสัญญาณหนี้เสียที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น อาจกดดันกำลังซื้อหรือการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจากฐานข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาส 3 พบว่า หนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM: Special Mention Loan) หรือ Stage2 ลูกหนี้ที่ค้างชำระ 1-3 เดือนนั้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีก่อน SM สะท้อนการทยอยเพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก 4.05 แสนล้านบาทเพิ่มเป็น 4.92 แสนล้านบาท

หนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารพาณฺชย์ ณ ไตรมาส 2 ปี 2566

ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย มีสัญญาณหนี้จะเสียเพิ่มขึ้น 37% จากเดิมอยู่ที่ 99,000 ล้านบาท เป็น 136,000 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มเกือบ 17% บัตรเครดิตเพิ่ม 6.5% จาก 8,900 ล้านบาทเป็น 9,500 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 17.5% จาก 180,000 ล้านบาทเป็น 2.1 แสนล้านบาท

“สัญญาณลูกหนี้ SM ที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่า จะมีโอกาสไหลกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล มากน้อยแค่ไหน จริงๆ ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น SM ก็ไม่ควรจะเพิ่มขึ้น ส่วนตัวมองว่า มีโอกาสที่ SM จะไหลลงต่อ สะท้อนปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งเป็นทิศทางไม่ค่อยดีนัก จึงเป็นโจทย์ต้องรีบบริหารจัดการหนี้ Clean loan เพราะดอกเบี้ยอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง” นายบุรินทร์กล่าว 

ทั้งนี้จากสัญญาณลูกหนี้ SM ที่ยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง มีโอกาสที่จะไหลหรือตกชั้นกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้เทียบตัวเลขเอ็นพีแอลไตรมาสต่อไตรมาสไม่ค่อยน่ากลัว เช่น สินเชื่อบ้านไม่น่ากลัวเท่าสินเชื่อรถยนต์ โดยค่อยๆ ขยับตัวเพิ่มขึ้น แต่เฉพาะหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิตบวกสินเชื่อส่วนบุคคลรวมกันยังเป็นตัวเลขจำนวนมาก

ขณะที่หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น  2.6แสนล้านบาท ส่วนหนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงเป็น 5.82หมื่นล้านบาท  แต่หนี้เสียจากสินเชื่อภาคเกษตรปรับลดลง 40% จากปีที่แล้ว โดยหนี้เสียเดิมอยู่ที่ 118,000 ล้านบาท สามารถลดเหลือ 67,000 ล้านบาท ดังนั้นสินเชื่อ Clean loan จึงเป็นโจทย์ที่ต้องดูแลต่อไป 

นายบุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากปัจจัยหนี้เสียที่ยังเพิ่มขึ้น มองไปข้างหน้าสถาบันการเงินทั้งหมดยังคงให้น้ำหนักที่ต้องรัดกุมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นประเด็นต่อปากท้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้น้ำหนักเป็นลำดับต้นๆ 

ล่าสุดได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนรายย่อยที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นสูงขึ้นจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ในระยะยาว ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับการแก้ไนหนี้สินของประชาชนรายย่อยอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินดังกล่าวในทางปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา ธปท.พยายามแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง และปีหน้าจะมีเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของผู้กู้ หรือ Risk-based pricing ซึ่งจะมีผลในทางปฎิบัติในปี 2567 ซึ่งจะเป็นการปลดล็อคอัตราดอกเบี้ยที่ธปท.จะวางแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะผิดนัดชำระของผู้กู้และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับความเสี่ยง

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินสามารถพิจารณาความเสี่ยงและขยายสินเชื่อได้อย่างมีคุณภาพถ้าสามารถนำมาปฎิบัติได้จริง และยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน อย่างเรื่องการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย”  ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องหาธุรกิจใหม่เพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลงหรือเพิ่มรายได้ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ใช่แค่กระเตื้องแต่มีเป้าหมายระยะยาวให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566