ก.ล.ต.-ตลท. ออกโรงประสานเสียง "ชอร์ตเซล" ไม่ใช่ทำให้หุ้นไทยร่วง

09 พ.ย. 2566 | 19:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 06:50 น.

เลขาธิการ ก.ล.ต. และ ผู้จัดการ ตลท. แถลงข่าวร่วมกันเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่ว่า ต่างชาติทำ Short Sell (ชอร์ตเซล) และโปรแกรมเทรดอัตโนมัติทุบตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก พร้อมยืนยันไม่พบความผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องออกมาตรการแบนชอร์ตเซล

วันนี้ 9 พฤศจิกายน 2566  ก.ล.ต.นัดแถลงด่วน หุ้นไทยดิ่งหนัก หลุด 1,400 จุด อีกครั้งในรอบ 3 สัปดาห์ โดยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการห้าม ชอร์ตเซล ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ( 6 ต.ค.66 ) สัดส่วนการทำ ชอร์ตเซล มีเพียง 5.6% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด เทียบปี 2565 อยู่ที่ 5.4 % ถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างมาก และหากเทียบกับมูลค่าการซื้อขายของปีก่อนที่ภาวะตลาดดีกว่าปีนี้ การทำชอร์ตเซล มูลค่าแทบไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ยังทรงตัวเหมือนเดิม ขณะที่แยกตามประเภทของหลักทรัพย์ที่เกิดการชอร์ตเซล ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กลุ่ม SET50 ไปจนถึงหุ้นขนาดเล็ก พบว่ายังมีสัดส่วนอยู่ในระดับเดิม

ก.ล.ต.-ตลท. ออกโรงประสานเสียง \"ชอร์ตเซล\" ไม่ใช่ทำให้หุ้นไทยร่วง  

นอกจากนี้การทำ ชอร์ตเซล ก็ไม่ได้มีผลกระทบให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรง ดังนั้นการห้ามชอร์ตเชล จะกลายเป็นการอั้นกลไกของราคาตลาด เพราะถ้าเห็นความผิดปกติ เป็นการชี้นำหรือทุบหุ้น ก.ล.ต.และตลท.ก็มีมาตรการบังคับใช้ (enforcement) อยู่แล้ว

 

ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ปริมาณชอร์ตเซลใน 2 ปีที่ผ่านมา ยังเท่าเดิม แต่เนื่องจากวอลุ่มเทรดในปีนี้ลดลง 30% เหลือเพียง 5 หมื่นกว่าล้านบาท/วัน เทียบกับปีก่อนที่เคยสูงถึง 7-9 หมื่นล้านบาท/วัน  จึงทำให้เปอร์เซ็นชอร์ตเซลสูงขึ้นมาในระดับ 5.6% จากปีก่อน 5.4% และโปรแกรมเทรดดิ้งก็เช่นกัน

ยันโปรแกรมเทรด ไม่ใช่ต้นเหตุทำตลาดหุ้นตก

ส่วนในเรื่องของโปรแกรมเทรด (Program trade ) ขณะนี้ไม่ใช่แค่เพียงนักลงทุนต่างชาติเพียงเท่านั้นที่สามารถใช้โปรแกรมซื้อขายได้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆก็ได้ให้บริการกับนักลงทุนรายย่อยด้วยเช่นกัน  ส่วนประเด็น High Freqeuncy Trading (HFT) ซึ่งเป็น Algorithm Trading ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 10% ของวอลุ่มการซื้อขาย และยังมีกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งประเภท Non-HFT ที่ไม่ได้ใช้ความเร็ว สัดส่วนราว 24% และที่เหลือไม่ได้ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ แต่ใช้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ สัดส่วน 16% จึงอย่าไปมองว่านักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติด้วยความเร็วทำให้ตลาดหุ้นตก เพราะเพียงสัดส่วน 10% จะมากดดันตลาดได้อย่างไร

 

ก.ล.ต.-ตลท. ออกโรงประสานเสียง \"ชอร์ตเซล\" ไม่ใช่ทำให้หุ้นไทยร่วง

นอกจากนั้นกลุ่ม HFT และ Non-HFT ส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์การเลือกสรรหุ้นโฟกัสในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงในกลุ่ม SET50 หรือ SET 100 ไม่ได้สนใจซื้อหุ้นเล็ก แต่คนที่เข้ามาลงทนในหุ้นเล็กส่วนใหญ่คือนักลงทุนรายย่อยในไทย รวมทั้งเมื่อมีการขายหุ้นออกมาทั้งตลาด นักลงทุนทุกกลุ่มก็ขายเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ HFT หรือ โปรแกรมเทรดดิ้ง

นายภากร ยังตอบคำถามที่ว่าแล้วทำไมหุ้นไทยยังลงอย่างต่อเนื่อง ว่าต้องดูว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือตัวชี้วัด "Lead Indicator" ฟ้องอะไร ก็คือ เศรษฐกิจในประเทศ ถ้าต่างชาติเชื่อมั่นมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ก็จะสะท้อนความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  ทั้งๆ ที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรได้  เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพแต่อยู่ที่ Sentiment ซึ่งก็อยู่ที่นักวิเคราะห์ต้องช่วยกัน

การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ปิดตลาด ณ วันที่ 9 พ.ย. 2566 ดัชนีหุ้นไทย ( SET index ) อยู่ที่ 1,404.97 จุด ปรับลดลง 6.80 จุด หรือ -6.80% มูลค่าซื้อขาย 49,743.19 ล้านบาท .