ทุนนอกจ่อไหลกลับ กินส่วนต่างดอกเบี้ย หุ้น-บอนด์รับอานิสงส์

05 พ.ย. 2566 | 19:08 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2566 | 19:37 น.

กูรูตลาดเงินชี้ หลังเฟดคงดอกเบี้ย ระยะสั้นเงินไหลกลับตลาดตราสารหนี้ไทย กินส่วนต่าง “ดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน” จับตาเงินทุนต่างชาติ ไหลกลับตลาดหุ้นเกิดใหม่รวมถึงไทย

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566  มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ที่ 5.25-5.50% หลังจากเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง 11 ครั้งนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 รวม 5.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 5.25-5.50%  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี

 

 

อย่างไรก็ตาม หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาด อีกทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟดได้ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสที่เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจากเดิม 38% ในสัปดาห์ก่อนเหลือราว 30% ขณะที่ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในระยะสั้นจะเห็นตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ซึ่งผลกระทบต่อตลาดนั้น โดยรวมตลาดรับรู้ ไปก่อนหน้าแล้ว ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ แต่แนวโน้มช่วงที่เหลือ ตลาดคาดการณ์ตีความว่า“เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว” แต่ส่วนตัวมองว่า เฟดยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจหลายอย่างที่เฟดเองยังไม่เคลียร์ เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐไตรมาที่ผ่านมาเติบโต 4.9%ซึ่งการจ้างงาน หรือตลาดแรงงานก็ออกมาดี อีกทั้งค่าแรงปรับขึ้นประมาณ4.0%สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด

“เฟดคงอยากเห็นตลาดแรงงานค่อยๆอ่อนแรง แต่ตลาดทึกทักกันไปเองว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้วและพร้อมจะลดดอกเบี้ย”นายบุรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เฟดได้ให้สัญญาณว่าปี2567 เฟดยังไม่คิดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่วนตัวมองว่า เฟดมีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2ครั้งและเป็น wait&see เนื่องจากตอนนี้ยังไม่เห็นคนตกงานในสหรัฐเหมือนในช่วงภาวะถดถอยโดยมีการจ้างงานเพิ่มจำนวนเป็นแสนคนในทุกเดือน ดังนั้น หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาดี จุดนี้ตลาดต้องระวัง บอนด์ยีลด์จะปรับเพิ่มขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และหุ้นตก

ที่ผ่านมาพอบอนด์ยิลด์โดยเฉพาะอายุ 10ปี แตะ 5.0% เฟดไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ทำให้สภาวะสภาพคล่องในตลาดตึงตัวขึ้นมา(จากการที่ก่อนหน้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยไป 3ครั้ง) การคงอัตราดอกเบี้ยรอบล่าสุดของเฟดเพื่อรอดูตลาด แต่หากบอนด์ยิลด์เริ่มลดลงเฟดคงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด

นอกจากนี้เฟดกำลังประเมินอัตราดอกเบี้ยที่ไปกระทบ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ (Commercial Real Estate) ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ และสัญญาณจากคนเริ่มนำเงินออกจากธนาคาร เพื่อไปฝากใน กองทุน Money market ระยะสั้น ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคาร ซึ่งแนวโน้มอาจจะกระทบเสถียรภาพ ระบบการเงิน โดยเฉพาะธนาคารเล็ก

สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนของไทยนั้นเบื้องต้น เมื่อเงินดอลลาร์ เริ่ม อ่อนค่าจะเป็นอานิสงส์กับตลาดตราสารหนี้ของไทย โดยเริ่มเห็นเงินไหลกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรของไทย เพราะได้รับประโยชน์ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนตลาดหุ้นคงต้องรออีกระยะ

สอดคล้องกับนายอมรเทพ​ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร​สำนัก​วิจัย​และที่ปรึกษา​การลงทุน​ ธนาคาร​ซีไอเอ็มบี ​ไทย​ กล่าวถึงสถานการณ์และทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดว่า หลังจากผลการประชุมเฟดคงอัตราดอกเบี้ยรอบล่าสุด ตลาดคาดคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง​ไม่ขึ้นต่อ​ แต่จะลดดอกเบี้ยช้าจากเงินเฟ้อยังสูง

นายอมรเทพ​ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร​สำนัก​วิจัย​และที่ปรึกษา​การลงทุน​ ธนาคาร​ซีไอเอ็มบี ​ไทย​

แนวโน้มอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรัฐบาล(บอนด์ยิลด์​) ลดลงแรง​ ตลาดทุนตอบรับในเชิงบวก​กลับมา​ Risk​on และเงินน่าไหลกลับมาตลาดเกิด​ใหม่​รวมทั้งไทย แต่ระวังความผันผวนในเดือนพฤศจิกาย​น จาก​ตัวเลขการจ้างงานนอกภาค​เกษตร​ที่ยังอาจอยู่ใน​ระดับสูง​ และค่าจ้างยังเพิ่ม​ เงินเฟ้อยังสูงและลดลงช้าจากค่าเช่าบ้าน​และ ปัญหางบประมาณสหรัฐ​ที่เสี่ยงตกลงไม่ได้เกิด​ shutdown

นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองแรกโดยระบุว่ากล่าว ถือเป็นผลด้านบวก โดยรวมเป็นไปตามคาด (ไม่มี surprise) ตลาดโดยรวมมีเสถียรภาพ ค่าเงิน EM Asia แข็งค่าต่อดอลล่าร์สหรัฐ หุ้นโลกอยู่ในแดนบวกเกือบทั้งหมด 

นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

อีกประเด็นคือ ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐ (ADP Employment Change) เพิ่มขึ้น 113k ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 150k ISM Manufacturing ก็ออกมา 46.7 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 49 ทำให้ตลาดประเมินโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จบไปแล้ว และยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปีหน้าต่อเนื่อง

ผลคือดอกเบี้ยระยะยาวลงหนักมาก เมื่อคืน US Treasury yield 10y ปรับลง 20bp (ไม่รวมจีนซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีตัวเลขที่น่าผิดหวังเช่นกัน) ราคาน้ำมันก็ปรับลดลงหลายวันต่อเนื่อง จึงกลายเป็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ bond yield ปรับลดลง และทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวดีขึ้น เพราะแรงกดดันจากดอกเบี้ยสูงคลายตัวลง

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,937 วันที่ 5 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566