ส่องโผหุ้น"เครื่องดื่มและอาหาร"รับผลกระทบน้ำตาลขึ้น 4 บาท

29 ต.ค. 2566 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 14:56 น.
689

มติ กอน.ปรับขึ้นราคาน้ำตาลอีก 4 บาท เปิดหุ้น"กลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร" หุ้นตัวไหนบ้าง "ได้-เสีย"ประโยชน์ ชี้ "CBG" กระทบต้นทุนมากสุด

จากกรณีที่ มติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศหน้าโรงงานอีกกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กก.ละ 19 บาท เป็นราคากก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก.ละ 20 เป็นกก.ละ 24 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.นี้เป็นต้นไป

ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลดังกล่าว นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าจะส่งผลลบ ต่อกลุ่มบริษัทเครื่องดื่มและอาหาร โดยบริษัทที่ขายในประเทศมากได้แก่ บมจ.โอสถสภา(OSP), บมจ.อิชิตัน (ICHI) และ บมจ.ที.เอ.ซี. คอนชูเมอร์ (TACC) ส่วนบมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) และ บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE) ขายส่งออกมากแต่มีขายในประเทศ

 

โดยกลุ่มเครื่องดื่มมีต้นทุนน้ำตาลเฉลี่ย 6.2% ของต้นทุนรวม นำโดย CBG อยู่ที่ 12%, OSP อยู่ที่ 6%, SAPPE อยู่ที่ 6%, ICHI อยู่ที่ 4% และ TACC อยู่ที่ 3%

ต้นทุนน้ำตาลที่ปรับขึ้น 20% (ทั้งในประเทศและส่งออกปรับขึ้นใกล้กัน) จะส่งผลกระทบกำไร CBG มากที่สุด 11% (กรณีปัจจัยอื่นคงที่) รองลงมา OSP กระทบกำไรอยู่ที่ 7%, ICHI กระทบกำไรอยู่ที่ 4.2%, SAPPE กระทบกำไรอยู่ที่ 3% และ TACC กระทบกำไรอยู่ที่ 2.4% 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผลิตอาหารและซอส อย่าง บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) มีต้นทุนน้ำตาล 8% แต่มาร์จิ้นสูงมาก คาดการณ์กระทบกำไรไม่เกิน 4% และ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) ต้นทุนน้ำตาล 2.2% คาดการณ์ผลกระทบกำไร 2.4% 

ฝ่ายวิจัย บล.ดาโอ ระบุมีมุมมองเป็นลบ เนื่องจากการปรับราคาน้ำตาลทรายขึ้นครั้งนี้ปรับตัวขึ้นถึง 21% หลังจากมีการปรับครั้งล่าสุดในเดือน ม.ค.2566 ที่ได้ปรับราคาขึ้น 10% ฝ่ายวิจัยมองว่าจะเป็น downside ต่อประมาณการกำไรปี 2567E ของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มโดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการล็อคราคาน้ำตาลไว้ล่วงหน้า 6 เดือน – 1 ปี 

 

มองหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากมากไปน้อยตามการใช้น้ำตาล มีดังนี้ CBG มีต้นทุนน้ำตาลที่ 13% ของ domestic branded own , OSP 6%, SAPPE 5%, SNNP 2%, PLUS 1% ทั้งนี้ หากราคาน้ำตาลทุกๆ 10% จะกระทบกำไรปี 2567E ที่ 1-5%

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยมองว่าประเด็นข้างต้นจะส่ง sentiment เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และส่ง sentiment เชิงบวกกับหุ้นผู้ผลิตน้ำตาล ได้แก่ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) , บมจ.น้ำตาลขอนแก่น  (KSL) , บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) และ บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS

ฝ่ายวิจัยดาโอ ยังคงน้ำหนักกลุ่ม Food & Beverage เป็นมากกว่าตลาด โดยเลือก SAPPE และ CBG เป็น top pick โดย SAPPE แนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายที่ 120.00 บาท 2567E PER 25.0x (ใกล้เคียง +2.25SD above 5-yr avg PER) และ CBG ราคาเป้าหมาย 109.00 บาท อิง 2567E PER ที่ 38.0x (ใกล้เคียง -0.25SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี)

ด้านนายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินว่าราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อหุ้นเครื่องดื่ม แต่เป็นผลกระทบกำจัดเท่านั้น โดยเบื้องต้น หุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนน้ำตาล CBG อยู่ที่ประมาณ 12-13%  ICHI อยู่ที่ 5%  SAPPE 5% และ OSPแค่ 3%

ทั้งนี้ประเมินว่า หากต้นทุนน้ำตาลที่สูงขึ้นอาจจะกระทบกำไรขั้นต้น CBG ราว 3.1% ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากบางส่วนเป็นการส่งออก ไม่ใช่ภายในประเทศ รวมถึง SAPPE ที่ผลกระทบอาจจะต่ำกว่าตัวเลขต้นทุนน้ำตาลที่เห็นข้างต้น เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำตาลจากตลาดโลกหรือตปท.ดังนั้นราคาในประเทศจึงส่งผลจำกัด อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการขายในประเทศ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก