สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ  พุ่ง 3.08 แสนล้านบาท

28 ต.ค. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 15:27 น.
641

ทีทีบีชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ส่งผลยอดขายรถยนต์ในประเทศหดตัว 1.6% กดดันสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์์ สวนทางยอดคงค้างสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส.ค.ปี 66 โตกระฉูด 40% แตะ 3.08 แสนล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2566 อยู่ที่ 8.35 แสนคันหรือหดตัว 1.6% ขณะที่สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ทั้งปีจะอยู่ที่ 8.9-9 แสนคัน โดยสินเชื่อเช่าซื้อจะขยายตัว 5-6% ส่งผลยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อสิ้นปีจะอยูที่ 2.15 ล้านล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เดือนสิงหาคม 2566 พบว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 821,339 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 118,223 ล้านบาทหรือ 16.81%จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดคงค้างที่ 703,116 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างสินเชื่อลดลง 34,669 ล้านบาทหรือ 13.36% ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 152,892 ล้านบาท หรือ 34.46% จากช่วงเดัยวกันปีก่อน 

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

ขณะเดียวกัน หากแยกประเภทสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกันมียอดคงค้างทั้งสิ้น  512,390 ล้านบาทเพิ่มขึ้น  28,401 ล้านบาทหรือ 5.87% และที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 308,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89,822 ล้านบาทหรือ 40.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ยอดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 308,949 ล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ โดยธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้าง 42,750 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 7,668 ล้านบาทหรือ 21.86% และนอนแบงก์มียอดคงค้าง 266,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82,334  ล้านบาทหรือ 44.74% จากช่วงเดียวกันปีก่อน   

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ทีเอ็มบีธนชาตหรือ ทีทีบี ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลของ ttb analytics ที่ประเมินยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2566 อยู่ที่ 8.35 แสนคันหรือหดตัว 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าจะได้อานิสงส์ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นเกือบแตะ 6 หมื่นคัน แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน 

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ทีเอ็มบีธนชาต
ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แผ่วลงค่อนข้างเร็ว กำลังซื้อชะลอตัวลง เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการภาครัฐ รวมถึงความกังวลจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเอง ก็พบแรงกดดังเพิ่ม จากคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อที่มีแนวโน้มด้อยลง และต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นตามวัฎจักรดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนาน  

สำหรับสินเชื่อรถยนต์รายย่อยของทีทีบี หรือทีทีบีไดร์ฟ ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อรถยนต์ที่ระดับ 36% ได้อย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง เช่น สินเชื่อรถแลกเงินที่มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเกือบ 20% 

ส่วนการดูแลคุณภาพพอร์ตสินเชื่อนั้น ทีทีบีไดรฟ์ มีนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มรายได้ปานกลาง (Middle Income) ขึ้นไป ไม่ได้ลงไปแข่งขันในกลุ่ม Mass Segment ซึ่งแม้จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงสูงตามมาเช่นกัน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวและค่อนข้างเปราะบางท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

นอกจากนั้นยังเน้นการเติบโตสินเชื่อจากการรู้จักและเข้าใจประวัติของลูกค้าในทุกๆ มิติ ส่งผลให้จึงมั่นใจได้ในเชิงคุณภาพของสินเชื่อ ส่งผลต่อสัดส่วนสินเชื่อ stage 2 ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ ยังอยู่ในระดับทรงตัว เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ซึ่งถือว่า ธนาคารเองสามารถควบคุมกลุ่ม Stage 2 ได้ดี

"ธนาคารได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามช่วยเหลือลูกค้าเป็นแบบรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังออกจากโปรแกรมช่วยเหลือ หรือและอยู่ใน Stage2 เพื่อปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระลูกค้า อาทิ การทำ Step Payment หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระเพื่อลดค่างวด"นายชัชฤทธิ์กล่าว 

ทั้งนี้ตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ควบคุมไม่เกิน 1.5% และเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ด้านสถานการณ์การชำระหนี้ของลูกค้า ไม่เป็นที่น่ากังวลใจและธนาคารสามารถบริหารจัดการได้

ต่อข้อถามการดำเนินคดีหรือยึดรถนั้นพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้น่ากังวลใจเพราะปริมาณรถยึดยังอยู่ในระดับควบคุมได้ตามเป้าหมาย 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กลยุทธ์ Car Owner Ecosystemt ธนาคารได้พัฒนาเว็บไซต์ Roddonjai เพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์ทั้งในเรื่องคุณภาพรถราคาที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดรถมือสองและภายในปี 2567 จะช่วยพันธมิตรขายรถได้มากกว่า 30,000 คัน (จากที่ประกาศบนเว็บไซต์กว่า 50,000 คัน) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท ด้วยดีลเลอร์พันธมิตรที่น่าเชื่อถือกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ “Roddonjai” ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขยายตลาดสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วทีทีบีไดรฟ์ ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากที่ได้เปิดให้บริการเว็บไซต์ มีรถที่ประกาศขายบนเว็บไซต์ Roddonjai แล้วกว่า 16,500 คัน และมีลูกค้าไว้วางใจใช้บริการซื้อรถมือสองไปแล้วกว่า 5,000 คัน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,933 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566