รายงานพิเศษ : ตำนาน”ชูเกียรติ-บ้านและสวน”ในมือ”สิริวัฒนภักดี”ไปทางไหน!

06 ต.ค. 2566 | 17:50 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2566 | 18:10 น.
3.6 k

AMARIN เปลี่ยนมือ กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ถือหุ้นอันดับ 1 หลังซื้อบิ๊กล็อตทะลุ 74% ระริน อุทกะพันธ์ รับเงิน 761 ล้าน รวม 2 ครั้ง ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดี ซื้อหุ้นสื่อที่เป็นตำนาน “บ้านและสวน-แพรว” มากถึง 1,611 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจนี้ต้องดิ้นรนก่อนร่วงโรย รายงานพิเศษ โดยต้นกล้า

วงการตลาดหุ้นยังให้ความสนใจและเกาะติดกรณี นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ทายาท นายชูเกียรติ-เมตตา อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร “บ้านและสวน” “แพรว” และ “แพรว สุดสัปดาห์” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการซื้อ-ขายหุ้นของบริษัท เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ว่า ได้จำหน่ายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ 138.39 หุ้น คิดเป็น 13.86% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ จำนวน 998.28 ล้านหุ้น ผ่านระบบการซื้อ-ขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) โดยจำหน่ายหุ้นดังกล่าวให้แก่ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ว่าเป็นบริษัทของใคร 

การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าวของคนในตระกูลอุทกะพันธ์ ในครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในกลุ่มอัมรินทร์ทั้งหมดหรือไม่!

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ที่เข้าซื้อหุ้นจาก นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ นั้น ถือหุ้นโดย บริษัท อเดลฟอส จำกัด ในสัดส่วนถึง 99.98% 

โดยที่ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ถือหุ้นโดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 3 ผู้สานต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว จากเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นในสัดส่วน 50% นายปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บุตรชายคนสุดท้องของเจ้าสัวเจริญ ถือหุ้นในสัดส่วน 50%  

ทั้งนี้ รายการ Big Lot Board ของการซื้อขายหุ้น AMARIN จำนวน 138.39 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 761.13 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ได้จำหน่ายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ 138.39 หุ้น คิดเป็น 13.86% ซื้อขายกันที่ราคาเฉลี่ยที่ 5.50 บาทต่อหุ้น สูงกว่าราคาในกระดานหลักทรัพย์ที่ 4.50 บาท/หุ้น 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของราคา AMARIN ในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 เปิดการซื้อ-ขายที่ราคาหุ้นละ 4.50 บาท ก่อนจะทิ้งดิ่งลงมาปิดตลาดเช้าที่ราคาหุ้นละ 4.32 บาท ลดลง 0.18 บาท/หุ้น

และในช่วงบ่ายการซื้อขายยังแกว่งตัวขึ้นลงโดย ณ เวลา 15.35 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ราคาหุ้นที่มีการซื้อขายลดลงมายืนที่หุ้นละ 4.24 บาท ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาในแดนลบ ตั้งแต่มีรายงานข้อมูลรายการ Big Lot  

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น AMARIN ในรอบ 1 เดือน ราคาหุ้นสูงสุดยืนที่ 4.76 บาท  ส่วนในรอบ 6 เดือน ราคาหุ้นสูงสุดที่ 6 บาท ต่ำสุดที่ราคา 4.36 บาท

รายชื่อผู้ถือหุ้น 10 รายแรก ของ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566 มีดังนี้

1.บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ถือหุ้น 60.35%

2.นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ถือหุ้น 9.42%, 3. นางระริน อุทกะพันธุ์ ถือหุ้น 4.45%, 4.นายระพี อุทกะพันธุ์ ถือหุ้น 4.04%, 5.นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ถือหุ้น 3.67%

6.โสภณ มิตรพันธ์พานิชย์ ถือหุ้น 2.11%, 7.มยุรี วงแก้วเจริญ ถือหุ้น 1.55%, 8.สมชัย สวัสดีผล ถือหุ้น 1.50%, 9.พีรวัฒน์ ธรรมาภิมณฑ์ ถือหุ้น 1.24% และ 10.บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 0.65%

ดังนั้น หากรวมรายการซื้อขาย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 จะพบว่า บริษัทในกลุ่มสิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นในบริษัท อัมมรินทร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมกันกว่า 74.21%

ขณะที่คนในตระกูลอุทกะพันธุ์ ที่ยังถือหุ้นอยู่จะเหลือแค่ นางเมตตา ภรรยานายชูเกียรติ ที่เป็นประธานกรรมการบริษัท 36,671,791 หุ้น และ นายระพี บุตรชายที่เป็นกรรมการบริษัท อัมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 40,283,711 หุ้นเท่านั้น 

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบพบว่า การซื้อหุ้นอัมรินทร์ของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี จาก นางระริน อุทกพันธ์ ในครั้งนี้ถือว่า ซื้อในราคาสูงกว่าการซื้อครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559  ถึงหุ้นละ 1.25 บาท

โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ประกาศเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 850 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว นายฐาปนและนายปณต ผู้ซื้อจะถือหุ้นรวม 47.62% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

และการซื้อขายครั้งนั้น ที่ราคาหุ้นละ 4.25 บาท ถือเป็นการซื้อที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์ฯ มากถึง 42.9% เพราะราคาที่ซื้อขายหุ้นกันในกระดานในช่วงนั้นอยู่ที่ 7.45 บาท แต่ซื้อเพียง 4.25 บาท เท่ากับว่าต่ำกว่าราคาตลาดถึง 3.20 บาท

ซึ่งสาเหตุของการเสนอขายหุ้นดังกล่าวนั้น เนื่องจากการที่ บริษัท อัมรินทร์ ประสบภาวะผลประกอบการขาดทุน จากการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 ก.ย. 2559 สูงเท่ากับ 4.32 เท่า จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่จากการเพิ่มทุน มาลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง  

ทั้งนี้ หากรวม 2 ครั้ง ที่กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท อัมรินทร์ จาก ตระกูลอุทกะพันธ์ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นในอันดับ 1 ถึง 74% เท่ากับว่า ตระกูลสิริวัฒนภักดีใช้เงินไปทั้งสิ้นราว 1,611 ล้านบาท

สำหรับผลประกอบการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ซึ่งประกอบด้วย

1.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งก็คือ อมรินทร์ทีวี สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ภาพความคมชัดสูง (เอชดีทีวี)

2.บริษัท อมรินทร์ ออมนิเวิร์ส จำกัด (เดิมชื่อบริษัท อมรินทร์ มีเดีย แอนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และทุนเรียกชำระแล้ว 50  ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจซื้อ จัดหา ให้เช่า เช่าถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ เพื่อแสวงหารายได้จากการถือกรรมสิทธิ์นั้นๆ และเข้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด เป็นบริษัทย่อยเนื่องจากถือหุ้น 99.99%

3.บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่จัดพิมพ์โดย บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) สำนักพิมพ์จ้างจำหน่าย รวมไปถึงนักเขียนอิสระ 

ต่อมาบริษัทได้ขยายธุรกิจค้าปลีกโดยการเปิดร้านหนังสือชื่อ “ร้านนายอินทร์” เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้อ่าน และการกระจายความรู้สู่ชุมชน มีการลงทุนพัฒนาระบบงานของหน่วยงานสนับสนุน ระบบสารสนเทศ และระบบคลังสินค้า และจัดส่งจนทำให้เป็นผู้นำในธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ของประเทศ ปัจจุบันมีร้านนายอินทร์ที่เปิดดำเนินการอยู่ 145 ร้าน

ในงวดเดือนมีนาคม 2566 มีรายได้รวม 956,654,000 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีรายได้ราว 955,174,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากแยกรายได้ตามประเภทธุรกิจ จะพบว่า

1.บริษัท มีรายได้ธุรกิจงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ 661,739,000 บาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2565 มีรายได้รวม  572,047,000 บาท 

2.บริษัทมีรายได้จากธุรกิจจัดงานแสดง ผลิตและให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ในงวด 31 มีนาคม 2566 มีรายได้รวม 163,153,000 บาท ลดจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีรายได้ถึง 204,429,000 บาท

3.บริษัทมีรายได้จากธุรกิจผลิตและให้บริการผ่านสื่อโทรทัศน์ ในงวด 31 มีนาคม 2566 รายได้รวม 263,860,000 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีรายได้ 351,104,000 บาท

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในงวดเดือนมีนาคม 2565 มีทั้งสิ้น  899,204,000 บาท สูงกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่ายรวม 890,429,000 บาท

ด้านกำไร สำหรับงวดเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 86,679,000 บาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีกำไร 113,974,000 บาท 

ต้องติดตามว่า หลังจากนี้ไปทิศทางอัมรินทร์ ในอุ้งมือตระกูลสิริวัฒนภักดีจะเป็นอย่างไร 

ตำนาน “ชูเกียรติ-บ้านและสวน” ที่ผันแปรมาอยู่ในมือ “สิริวัฒนภักดี”จะเดินหน้าธุรกิจทีวี สิ่งพิมพ์ อีเวนต์ อย่างไร ในสถานการณ์โลกดิจิทัล พฤติกรรมของผู้คนในโซเชียลมีเดีย กำลังกดทับธุรกิจสื่อดั้งเดิมอย่างหนักหน่วง