รายงานพิเศษ : กสทช.ฟัดกันเลือดสาด! กรรมการฟ้องประธาน

22 ก.ย. 2566 | 17:41 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2566 | 17:56 น.
3.3 k

1 ปี 5 เดือน ภายใต้การทำงานของ กรรมการ กสทช.ชุดที่ 2 ดูเหมือนองค์กรทีมีขุมทรัพย์และรายได้สะสมราว 32,690 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และผลประโยชน์อื่น มีการนำเงินส่งคลังราว 23,000 ล้าน จะกลายเป็น “ดินแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยปัญหาใหญ่”

นับตั้งแต่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการ อันประกอบด้วย 1.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 2.ศ.พิรงรอง รามสูต 3.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 4.รองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2565 

ต่อมามีการแต่งตั้ง กรรมการ กสทช.เพิ่มอีก 2 คน คือ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. (ด้านกฎหมาย) และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (สายงานกิจการโทรคมนาคม)  รวมเป็น 7 คน

ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ภายใต้การทำงานของ กรรมการ กสทช.ชุดที่ 2 ดูเหมือนองค์กร กสทช.ทีมีขุมทรัพย์และรายได้สะสมอยู่ตอนนี้ราว 32,690 ล้านบาท จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และรายได้หรือผลประโยชน์อื่น มีการนำเงินส่งคลังตอนนี้ 23,000 ล้านบาท จะกลายเป็น “ดินแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยปัญหาใหญ่”

ลองพิจารณาปัญหาความขัดแย้ง ที่กำลังทำลายองค์กร กสทช. ที่ทรงพลานุภาพให้ย่อยยับลงได้ หากผู้มีอำนาจไม่ลงมาแก้ปัญหา

ปัญหาแรก....จนบัดป่านนี้เป็นระยะเวลาร่วม 3 ปี ยังไม่สามารถสรรหาและแต่งตั้ง “เลขาธิการ กสทช.” ที่ว่างเว้นมานานเกือบ 3 ปี หลังจาก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ ในวันที่ 9 ก.ย. 2563 ทำให้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร สร้างประวัติศาสตร์เป็น “รักษาการเลขาธิการ กสทช.มายาวนานถึง 3 ปี 2 เดือน”

ปัญหาที่สอง...องค์กรนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์การลงมติของประธาน กสทช. “ซ้ำถึง 2 รอบ” จากเรื่องการควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด ด้วยการที่ประธาน กสทช.ต้องลงมติ “รับทราบ” ซ้ำจนทำให้มติการขอควบรวมกิจการค่ายมือถือได้โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อ กสทช. ออกมาด้วยคะแนน 3:2:1 เสียง (รับทราบ 3, ไม่อนุญาต 2 งดออกเสียง 1)

ชนิดที่ผู้คนต่างกังขาว่าหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย เพราะรอบ 2 นั้น ประธาน กสทช.ใช้สิทธิ์ลงมติซ้ำเพื่อ “ชี้ขาด” จนทำให้ “มติคณะกรรมการบิดเบี้ยว”

ปัญหาที่สาม...ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน บอร์ด กสทช.เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2566 กรรมการ กสทช. 4 คน อันประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง, รศ.ดร.ศุภัช, พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ และ รศ.ดร.สมภพ ได้ทวงถาม ศ.คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช. เรื่องการเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ ซึ่งมติ กสทช.ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ให้ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ รองเลขาธิการด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ ที่มีปัญหาเรื่องการสนับสนุนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 600 ล้านบาท

แต่ ประธาน กสทช. ยืนยันว่า จะไม่ลงนามในคำสั่งเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ แม้ว่า กสทช.จะมีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 4:21 ให้ นายไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งรักษาการ โดยอ้างว่า “เป็นอำนาจของประธาน กสทช.”

ปัญหาที่สี่...ระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน “ผู้บริหารฟ้องกรรมการ” “กรรมการฟ้องประธานกสทช.” เรียกว่าฟ้องร้องคดีกันหนักหน่วง ชนิดที่ไม่รู้จะทำงานกันอย่างไร!!!

คดีแรก วันที่ 11 ก.ย. 2566 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ  กสทช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) , ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ. ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (จำเลยที่ 5) เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 กรณีสอบสวนข้อเท็จจริงกล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบ และและดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ 

คดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง ให้นัดฟังคำสั่ง หรือคำพิพากษา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 9.30 น. ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่ ”แก้วร้าวแล้ว ทำงานด้วยกันยากแล้วแน่นอน”

คดีต่อมา กรรมการ กสทช. 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ , รศ.ดร.พิรงรอง, รศ.ศุภัช และ รศ.สมภพ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-4) ได้ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ ประธาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1764/2566 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

กรรมการ กสทช. รวม 4 คน ฟ้องว่า ประธาน กสทช. กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีไม่ดำเนินการลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ผศ.ภูมิศิษฐ์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามมติ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ประธาน กสทช. ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง และได้ยื่นคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวสั่งให้ ประธาน กสทช. ลงนามแต่งตั้ง ผศ.ภูมิศิษฐ์ เป็นรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

ปัญหาที่ห้า...การประชุมคณะกรรมการ กสทช.เดินหน้าไปไม่ได้จากความขัดแย้งภายในกันหนักหน่วง  ล่าสุดในการประชุม กสทช. นอกสถานที่ จ.นครพนม (21 ก.ย.2566) ได้มีการบรรจุวาระ เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเสนอโดย ศ.คลินิก นพ.สรณ  ประธาน กสทช. ให้ที่ประชุมพิจารณา แต่กรรมการ กสทช. 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์, รศ.พิรงรอง, รศ.ดร.ศุภัช   และ รศ.สมภพ ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ถึง ศ.คลินิก นพ.สรณ โดยแสดงความเห็นคัดค้านการบรรจุวาระเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เข้าที่ประชุม เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. “น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส”

ขณะเดียวกัน กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คน ได้ถูก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ผู้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้ทำให้กรรมการทั้ง 4 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นกลางแต่อย่างใด เนื่องจากศาลฯ ยังมิได้วินิจฉัยจนถึงที่สุดว่า กรรมการทั้ง 4 คน ทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่

แต่การพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ของประธาน กสทช. นั้น ย่อมเป็นกรณีที่ “ประธาน กสทช. เป็นผู้มีส่วนได้เสีย”  ไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ประธาน กสทช. จะเสนอชื่อในครั้งนี้ได้ 

สาเหตุเพราะ “ประธาน กสทช. เป็นผู้ที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกด้วยตนเองทั้งหมด” และยังมีพฤติการณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกบางคน

ผลที่ตามมาคือ การประชุม กสทช. ครั้งนี้ เดินหน้าไปไม่ได้ ประธาน กสทช. ไม่สามารถหยิบยกวาระเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการฯคนใหม่ขึ้นมาพิจารณาได้!

ทะเลาะ ขัดแย้งกันขนาดนี้...ควรอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาแก้ไข ก่อนองค์กรอิสระแห่งนี้จะพังพาบลง จนเดินหน้าไม่ได้ และหากปล่อยให้ขัดแย้งกันเช่นนี้ต่อไป ระยะเวลา 6 ปี ที่กรรมการจะทำงานร่วมกันจนหมดวาระไปนั้น คงฟาดฟันกันเลือดสาดแน่นอน…