วีระวงค์ : ผู้พิพากษาอังกฤษแทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่

15 ก.ย. 2566 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 08:10 น.

วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จำเลยในคดีหุ้นวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) โพสต์บทความเรื่อง "ผู้พิพากษาอังกฤษแทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่"เพื่อชวนให้คิดว่ามีประเด็นใหญ่ซับซ้อนในคดี WEH อย่างไร

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ นักกฏหมายชื่อดัง  (ผู้ก่อตั้งบริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด : WCP) และเป็นหนึ่งในจำเลยคดีหุ้นวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุุ๊คส่วนตัว Weerawong : Wonderful Ways นำเสนอบทความที่ 4 ซึ่งเป็นบทความสุดท้าย โดยหวังจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ และให้ชวนคิดในประเด็นใหญ่และซับซ้อนมาก คือ มีการแทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยโดยผู้พิพากษาอังกฤษหรือไม่?  หลังจากนำเสนอมาแล้ว 3 บทความ  คือ

บทความที่ 4 : ผู้พิพากษาอังกฤษแทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่

Q: อำนาจอธิปไตยคืออะไร และสำคัญอย่างไร

A: อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) หมายถึง อำนาจที่แสดงถึงความเป็นอิสระของประเทศในการปกครองตนเองที่ประเทศอื่นจะแทรกแซงการใช้อำนาจนี้ไม่ได้ ซึ่งอำนาจอธิปไตยของไทยแบ่งออกเป็น (1) อำนาจนิติบัญญัติ (2) อำนาจบริหาร และ (3) อำนาจตุลาการ

โดย “อำนาจตุลาการ” หมายถึง อำนาจของศาล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนี้ในการพิจารณาตัดสินคดีระหว่างบุคคลในประเทศหรือบุคคลกับรัฐ ตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราออกมาบังคับใช้ 

Q: การที่นาย Calver (ผู้พิพากษาอังกฤษ) รับพิจารณาพิพากษาคดีหุ้นวินด์ที่กลุ่มนายนพพรไปฟ้องในประเทศอังกฤษถือเป็นการแทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจตุลาการ (อันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย) ของไทยหรือไม่?

A: กรณีที่กลุ่มของนายนพพรไปฟ้องคดีที่หุ้นวินด์ต่อศาลอังกฤษนี้มีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1. กลุ่มของนายนพพรฟ้องคดีหุ้นวินด์ #ในศาลอังกฤษ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 เป็น #คดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โดยอ้างว่า จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำ “ละเมิด” ต่อกลุ่มของนายนพพรจากการที่บริษัท REC โอนขายหุ้น WEH ออกไป เพื่อให้กลุ่มของนายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพ อันถือเป็นความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้” ตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย โดยก่อนที่จะฟ้องคดีหุ้นวินในศาลอังกฤษนั้น กลุ่มของนายนพพรได้ทำการฟ้อง #คดีอาญา_ในศาลไทย เอากับจำเลยหลายคนในคดีอังกฤษนี้ #ไว้ก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ในฐานความผิดเดียวกัน

 

คือ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกันให้บริษัท REC โอนขายหุ้น WEH ออกไป โดยมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้บริษัทของนายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพ ถือเป็นความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้” ตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ของศาลแขวงพระนครใต้) ซึ่งในขณะที่ฟ้องคดีในศาลอังกฤษนั้น ศาลไทยยังไม่ได้มีคำพิพากษา (ขณะที่เขียนบทความนี้ #ศาลไทยก็ยังไม่มีคำพิพากษา)

2. กลุ่มของนายนพพรรวมทั้งทนายความในประเทศอังกฤษและในประเทศไทย (ทีมทนายความ) ที่มีส่วนในการวางแผน, ให้คำปรึกษา, และดำเนินการฟ้องคดีหุ้นวินด์ #ในศาลอังกฤษ ให้แก่กลุ่มของนายนพพร ต่างทราบดีว่า เมื่อฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 เรื่อง “โกงเจ้าหนี้” ไว้แล้ว การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็น #คดีแพ่ง คือ มีการกระทำ “ละเมิด” โดยจำเลยทั้งหมดจากการ “โกงเจ้าหนี้” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันนั้น (ซึ่งก็คือข้อกล่าวหาเป็น #คดีแพ่ง ของกลุ่มนายนพพรในคดีหุ้นวินด์ในศาลอังกฤษ) ในทางปฏิบัติ #ศาลไทยจะจำหน่ายคดี (คือฟ้องได้แต่ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไม่ได้) เพื่อรอให้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลไทยในคดีอาญาออกมาก่อนว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดอาญาในฐาน “โกงเจ้าหนี้” หรือไม่ และคำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญานั้นจะผูกพันศาลไทยในคดีแพ่งให้ต้องรับฟังเป็นอย่างเดียวกันด้วย ดังนั้น หากศาลไทยในคดีอาญาพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดอาญาในฐาน “โกงเจ้าหนี้” ก็จะไม่เกิดการกระทำ “ละเมิด” การเรียกค่าเสียหายใน #คดีแพ่ง ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และศาลไทยในคดีแพ่งจะต้องยกฟ้องอย่างแน่นอน เพราะจะชี้ขาดข้อเท็จจริงเรื่องการ “โกงเจ้าหนี้” เป็นอย่างอื่นไม่ได้ 

3. การไปฟ้องคดีหุ้นวินด์ #ในศาลอังกฤษ โดยไม่ยอมรอให้ศาลไทยในคดีอาญามีคำพิพากษาออกมาก่อน และไม่ยอมฟ้อง #คดีแพ่ง ต่อศาลไทย จึงสรุปเหตุผลได้ว่า เพราะกลุ่มของนายนพพรและทีมทนายความไม่ต้องการให้คำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญามีผลผูกพัน #คดีแพ่ง (ซึ่งขณะที่ไปฟ้องคดีในศาลอังกฤษนั้นกลุ่มของนายนพพรและทีมทนายความคงได้ประเมินแล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกศาลไทยตัดสินยกฟ้องว่าไม่มีการ “โกงเจ้าหนี้”) จึงนำคดีหุ้นวินด์ไปฟ้องเป็น #คดีแพ่ง ในศาลอังกฤษเพราะเชื่อว่าผู้พิพากษาอังกฤษจะตัดสิน #คดีแพ่ง เรื่อง “โกงเจ้าหนี้” เป็นคุณแก่กลุ่มของนายนพพร เนื่องจากผู้พิพากษาอังกฤษขาดความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องกฎหมายไทยที่จะต้องใช้บังคับกับคดีและข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุของการฟ้องคดีซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ฯลฯ มีข้อเท็จจริงด้วยว่า เนื่องจากกระบวนการพิจารณาในศาลอังกฤษใช้เวลามากกว่าในศาลไทย กลุ่มของนายนพพรจึงได้ทำการขอเลื่อนการนำสืบพยานของฝ่ายตนในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพิจารณาคดีล่าช้าออกไปกว่าปกติและใช้เวลาในการสืบพยานในศาลไทยนานถึงกว่า 5 ปี จนศาลอังกฤษสามารถมีคำพิพากษาออกมาได้ก่อนศาลไทย จากนั้น กลุ่มของนายนพพรก็ได้ใช้การออกข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอังกฤษซึ่งตัดสินให้จำเลยแพ้ #คดีแพ่ง เรื่อง “โกงเจ้าหนี้” อย่างครึกโครมในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสภาพบังคับในประเทศไทยและไม่ได้มีผลผูกพันศาลไทย ซึ่งอาจจะมาจากความเชื่อที่ว่าจะสามารถกดดันศาลไทยในการตัดสิน #คดีอาญา ให้ต้องยอมรับแนวคำพิพากษา #คดีแพ่ง ของศาลอังกฤษ 

4. เป็นที่ทราบกันดีว่าการฟ้องคดีและการต่อสู้คดีในศาลอังกฤษนั้นเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ใช้เวลา และสร้างค่าใช้จ่ายให้แก่คู่ความทุกฝ่ายสูงมาก กลุ่มของนายนพพรและทีมทนายความจึงใช้การไปต่อสู้คดีหุ้นวินด์ #ในศาลอังกฤษ สร้างปัญหาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยทั้งหลายในวงเงินหลายสิบล้านบาทหรือเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาทต่อรายจนตัดสินใจไม่ไปต่อสู้คดี เพื่อให้ศาลอังกฤษพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียว หรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการต่อสู้คดีจนถึงขนาดสิ้นเนื้อประดาตัวได้ ในขณะที่ในการฟ้องคดีที่อังกฤษนี้ กลุ่มของนายนพพรมี #กองทุนค้าความชื่อ_Harbour_Litigation_Funding_เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนเงินลงทุนที่สูงจนน่าตกใจ โดยมีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากการชนะคดีระหว่างหัน ซึ่งการดำเนินการเป็นธุรกิจเยี่ยงนี้ของ Harbour Litigation Funding อันเป็นกองทุนค้าความเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ #ผิดกฎหมายไทย การออกค่าใช้จ่ายในคดีที่มีการฟ้องร้องในประเทศไทยเพื่อหาประโยชน์เข้าตนจากคดีที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยทำไม่ได้

การฟ้องคดีในศาลอังกฤษของกลุ่มนายนพพรนี้จึงมิใช่เป็นเพียงการเลือกศาลที่ตนจะได้ประโยชน์ในเชิงคดีมากกว่าการฟ้องคดีในศาลไทย (forum shopping) เพื่อเอาเปรียบฝ่ายจำเลยแบบที่มีทนายความบางรายแนะนำให้ลูกความนำไปใช้กันอยู่บ้างแล้วเท่านั้น หากแต่เป็นการเปิดช่องให้นาย Calver (ผู้พิพากษาอังกฤษ) ใช้หลัก Long-Arm Jurisdiction (การใช้เขตอำนาจรัฐนอกดินแดน) ตามกฎหมายอังกฤษ (คือ ศาลอังกฤษรับฟ้องคดีนี้ได้เพียงเพราะหนึ่งในจำเลย 17 คนเป็นคนอังกฤษ) มา #แทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจตุลาการของไทย โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักการของกฎหมายว่า ศาลไทยเป็นศาลที่เหมาะสมกว่าศาลอังกฤษในการพิจารณาตัดสิน #คดีแพ่ง อันเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง “โกงเจ้าหนี้” ที่ศาลไทยกำลังพิจารณาคดีอยู่ เพราะ #คดีแพ่ง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ #คดีอาญา (อันเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมไทย) นั้น ศาลไทยจะต้องยึดถึอตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาของ #คดีอาญา 

การ #แทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจตุลาการของไทย โดยนาย Calver (ผู้พิพากษาอังกฤษ) นี้ ยังเป็นการกระทบสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของจำเลยซึ่งเป็นคนไทยที่รัฐในฐานะผู้ใช้ “อำนาจบริหาร” (อันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย) จะต้องให้การคุ้มครองให้ได้รับความเป็นธรรมและความสะดวกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร นอกจากนี้ ยังถือได้ว่า นาย Calver เป็นผู้สนับสนุนการใช้สิทธิในการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตของกลุ่มนายนพพรที่ต้องการจะสร้างความเสียหายให้แก่จำเลยจากการที่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการไปต่อสู้คดีในศาลอังกฤษจำนวนสูง ทั้ง ๆ ที่กลุ่มของนายนพพรไม่มีข้อยุ่งยากหรืออุปสรรคใด ๆ ที่จะฟ้อง #คดีแพ่ง นี้ในศาลไทยซึ่งจำเลยจะไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงได้ ซึ่งการไปฟ้องคดีที่ต่างประเทศในลักษณะไม่เป็นธรรมนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไทย ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2558 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8455/2559

Q: นาย Calver (ผู้พิพากษาอังกฤษ) มีทางเลือกที่จะไม่แทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจตุลาการของไทยหรือไม่?

A: การที่จำเลยหนึ่งใน 17 คนเป็นคนอังกฤษนั้นไม่ถือเป็นเหตุเพียงพอที่นาย Calver จะรับพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยอ้างเพียงหลัก Long-Arm Jurisdiction เท่านั้น เพราะจะต้องพิจารณา #จุดเกาะเกี่ยว ด้วยตามหลัก forum non conveniens อันเป็นหลักกฎหมายของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่ง House of Lords ของประเทศอังกฤษได้เคยวางแนวบรรทัดฐานไว้ในคดี Spiliada Maritime Corporation v Cansulex Limited ว่าศาลอังกฤษจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการพิจารณาว่าศาลอังกฤษเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีและเป็นศาลที่มีความสะดวกและเหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ คือ

  • (1) การมีอยู่ของพยานหลักฐาน
  • (2) กฎหมายที่ใช้บังคับกับข้อพิพาท และ
  • (3) ภูมิลำเนาหรือการประกอบธุรกิจในประเทศอังกฤษ

ซึ่งในคดีนี้ พยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารเกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศไทย, เหตุการณ์ที่นำมาฟ้องร้องกันเกิดขึ้นในประเทศไทยและต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ, และจำเลยทั้งหมดไม่ได้ทำธุรกิจหรือมีภูมิลำเนาในประเทศอังกฤษ (ยกเว้นจำเลยที่เป็นคนอังกฤษ 1 คน) 

นาย Calver ยังได้รับทราบข้อมูลจากคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้ซึ่งไม่มีผู้ใดโต้แย้งด้วยว่า กระบวนการพิจารณคดีที่ผ่านมาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ที่กลุ่มของนายนพพรฟ้องจำเลยในศาลไทยนั้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มของนายนพพรจะได้รับการพิจารณาคดีจากศาลไทยด้วยความเป็นธรรมหากฟ้อง #คดีแพ่ง นี้ในไทย (I therefore consider that those proceedings by NS’s Companies (บริษัทของนายนพพร) clearly demonstrate that there is no basis to support a concern that NS (นายนพพร) or his related entities would not be able to secure a fair trial in relation to his claims in Thailand. ข้อ 71 หน้า 26 ของ Thai Politics Supplemental Expert Report of Khun Prapan Sapsang dated 25 July 2022) 

นอกจากนี้ นาย Calver ยังได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่แจ้งชัดว่ากลุ่มของนายนพพรได้ทำการฟ้อง #คดีอาญา เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ของศาลแขวงพระนครใต้ไว้ก่อนแล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลไทย (The relevant complaint in this case, filed in Thailand in Black Case Aor 157/2561 on 23 January 2018 ข้อ 1308 b หน้า 343 ของคำพิพากษา)  

นาย Calver (ผู้พิพากษาอังกฤษ) จะต้องไม่ #แทรกแซงและล่วงล้ำอำนาจตุลาการของไทย ตามที่กลุ่มของนายนพพรตั้งเรื่องฟ้องคดีเข้ามา โดยตัดสินให้กลุ่มนายนพพรไปฟ้อง #คดีแพ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ที่ศาลไทย โดยนาย Calver สามารถใช้หลัก forum non conveniens เพื่อปฏิเสธไม่รับวินิจฉัยคดีหุ้นวินด์นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายและสร้างความเป็นธรรมให้แก่จำเลย

เนื่องจากศาลไทยเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีและเป็นศาลที่มีความสะดวกและเหมาะสมมากกว่าศาลอังกฤษในการพิจารณาคดีหุ้นวินด์ที่กลุ่มของนายนพพรนำมาฟ้องในศาลอังกฤษนี้ 

การรับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ได้มี #จุดเกาะเกี่ยว นี้ ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยตัดสินไว้ว่าเป็นการ #ล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น (คดีระหว่าง World-Wide Volkswagen Corp. v. Woodson)

Wish you wonderful ways 
วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ