"วีระวงค์"ชำแหละ ผู้พิพากษาอังกฤษ"โกหก-เท็จ"คดีหุ้น WEH

03 ก.ย. 2566 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2566 | 14:20 น.
993

“วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ” ชำแหละคำพิพากษาอังกฤษคดีหุ้น WEH "โกหก-เท็จ" ชี้ตัดสินจากความรู้สึกขาดพยานหลักฐาน ไม่รับฟังข้อเท็จจริงฝ่ายจำเลยนำสืบพยาน แต่กลับ ด้อยค่าเอกสารของราชการไทยและคำให้การฝ่ายจำเลยว่าไม่น่าเชื่อถือ

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ นักกฏหมายชื่อดัง  ( ผู้ก่อตั้งบริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด : WCP) หนึ่งใน 14 จำเลยคดีหุ้น วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ซึ่งศาลชั้นต้นอังกฤษ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.66 มีคำตัดสินให้ร่วมกันจ่ายค่าเสียหายราว 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH  หลังถูกนายนพพร ฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH 

ล่าสุด นายวีระวงค์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟสบุ๊ค  Weerawong : Wonderful Ways อีกครั้ง ในเชิงถาม-ตอบว่า ผู้พิพากษาอังกฤษโกหก-เท็จ หรือไม่ ? ข้อความดังนี้

 

ความเท็จในคำพิพากษาคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ

Q: คำว่า “การโกหก-เท็จ” ในทางกฎหมายมีความหมายอย่างเดียวกับความหมายในภาษาที่ใช้กันทั่วไปหรือไม่

A: มีความหมายแบบเดียวกัน แต่เพื่อให้ไม่มีข้อโต้แย้งกัน ผมขอใช้ความหมายตาม Black’s Law Dictionary ซึ่งให้ความหมายคำว่า “Lie” (การโกหก-เท็จ) ไว้ 3 แบบ คือ แบบที่ 1 An untruth deliberately told (ข้อความไม่จริงที่ถูกนำมาบอกโดยความตั้งใจ) แบบที่ 2 the uttering or acting of that which is false for the purpose of deceiving (การบอกกล่าวหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยมุ่งหมายที่จะหลอกลวง) แบบที่ 3 intentional misstatements (การตั้งใจให้ข้อมูลบิดเบือนไม่ถูกต้อง)

 

Q: ในคดีของศาลอังกฤษ ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีด้วยวิธีการอย่างไร  

A: ผู้พิพากษาจะตัดสินคดีไปตามมโนคติ (idea/ imagination) ของตนเองไม่ได้ แต่จะต้องใช้การรับฟังและวิเคราะห์จากพยานหลักฐานที่โจทก์นํามาพิสูจน์สนับสนุนข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานที่จําเลยนํามาหักล้างข้อกล่าวหา ซึ่งจะต้องเป็นไปตามภาระการพิสูจน์ด้วย โดยในคดีแพ่ง โจทก์มีภาระการพิสูจน์ คือ มีหน้าที่นําพยานหลักฐานมานําสืบ (พิสูจน์) ว่าความจริงเป็นไปตามที่โจทก์ฟ้องคดีและกล่าวอ้างไว้ โดยนาย Calver เขียนไว้ในคำพิพากษาว่า คดีนี้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ (The burden of proof lies on the claimants. - ข้อ 902 หน้า 235 ของคำพิพากษา)

Q: คำว่า “พิสูจน์” ในคดีนี้ของศาลอังกฤษมีหลักการอย่างไร

A: คำว่า “พิสูจน์” หมายความว่าทำให้ผู้พิพากษาเชื่อ ซึ่งนาย Calver เขียนไว้ในคำพิพากษาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยร่วมกัน “โกงเจ้าหนี้” โจทก์จึงจะมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยพยานหลักฐานในระดับที่สูงกว่าคดีแพ่งทั่วไป คือ ต้อง “พิสูจน์” ด้วย Cogent Evidence ซึ่งนาย Calver ยืนยันว่าจะใช้หลักการ “พิสูจน์” นี้ในการตัดสินคดี (I bear in mind at all times that where fraud is alleged, cogent evidence is required by a claimant to prove it - ข้อ 903 หน้า 235 ของคำพิพากษา)

Q: Cogent Evidence ที่นาย Calver ยืนยันว่าจะใช้ หมายความว่าอย่างไร

A: หลักการ “พิสูจน์” ในคดีความจะมี 3 ระดับ ดังนี้  

1. Proof Beyond Reasonable Doubt (ถือเป็นระดับเข้มงวดที่สุด) ซึ่งเป็นหลักการ “พิสูจน์” ที่ใช้ในคดีอาญา คือ โจทก์ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย “พยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยที่มีเหตุผล” ว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องจริง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้เช่นนี้ ศาลก็จะลงโทษจำเลยไม่ได้

 

2. Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence ที่นาย Calver กล่าวถึง (ถือเป็นระดับเข้มงวดปานกลาง) ซึ่งใช้ในคดีแพ่งที่มีการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา คือ โจทก์ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย “พยานหลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ” ว่าจำเลยกระทำความผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาตามฟ้องจริง  

3. Proof on the Balance of Probability (ถือเป็นระดับเข้มงวดน้อย) ซึ่งใช้ในคดีแพ่งที่มีการเรียกค่าเสียหายทั่วไป คือ โจทก์ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย “พยานหลักฐานที่มีความเป็นไปได้เกินกว่า 50% ว่าจะเป็นความจริงมากกว่าความเป็นเท็จ”

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ในการตัดสินคดีด้วยหรือ

A: ต้องใช้วิจารณญาณเองจากวิธีการที่นาย Calver ทำการรับฟังและวิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบไว้ในคดีนี้ใน 2 ประเด็นหลัก คือ 

  • ประเด็นที่ 1 นาย Calver ตัดสินว่านายนพพรเป็นพยานที่ซื่อสัตย์สุจริต และ
  • ประเด็นที่ 2 นาย Calver ตัดสินว่าพยานฝ่ายจำเลยล้วนโกหกต่อศาลและเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด 

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ในประเด็นที่ 1 หรือไม่ อย่างไร

A: ใน ประเด็นที่ 1 ซึ่งนาย Calver ตัดสินว่านายนพพร เป็นพยานที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น นาย Calver เขียนไว้ในคำพิพากษาว่า นายนพพรให้การไม่ตรงไปตรงมาเป็นครั้งคราว แต่ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายนพพรมีความคับข้องใจกับฝ่ายจำเลยซึ่งเขาไว้วางใจแต่กลับหักหลังเขา ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเขาเป็นพยานที่ซื่อสัตย์สุจริต (Whilst Mr. Suppipat (นามสกุลของนายนพพร) occasionally gave less than straightforward evidence, I consider that was, by and large, borne out of an understandable sense of grievance that he felt towards those Defendants whom he trusted but who had so thoroughly betrayed him. Overall I found him to be an honest witness. ข้อ 906 หน้า 237 ของคำพิพากษา) 

นอกจากความเห็นอกเห็นใจต่อนายนพพร  ซึ่งนาย Calver เขียนขึ้นจากความรู้สึกของตนเองโดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ มาอ้างอิงแล้ว นาย Calver ไม่กล่าวถึงบรรดาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ฝ่ายจำเลยนำสืบไว้ว่านายนพพรเป็นคนไม่สุจริตไว้ในคำพิพากษาเลย กล่าวคือ

  • (ก) การถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในประเทศไทยจากความผิดฐานยักยอกทรัพย์
  • (ข) การเป็นผู้ต้องหาและหนีคดีอาญาเรื่องทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและกระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
  • (ค) การปกปิดข้อเท็จจริงสำคัญในคดีต่อศาลฮ่องกงในคดีที่นายนพพรขอให้ศาลฮ่องกงออกคำสั่งห้าม GML (บริษัทของคุณหญิงกอแก้ว) จำหน่ายจ่ายโอนหุ้น WEH ที่ซื้อมาจาก REC ซึ่งข้อเท็จจริงที่นายนพพรจงใจปกปิดศาลฮ่องกงคือการไม่แจ้งต่อศาลฮ่องกงว่าอนุญาโตตุกลาการได้ยืนยันว่าไม่ได้ออกคำสั่งห้าม REC จำหน่ายจ่ายโอนหุ้น WEH ที่ REC ถืออยู่ และ
  • (ง) การที่นายนพพรไปขัดขวางไม่ให้บริษัทของนายณพหาเงินกู้มาชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัทของนายนพพรได้ภายในกำหนดเวลา เพื่อให้บริษัทของนายณพผิดนัด แล้วตนจะได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเรียกร้องเอาหุ้น WEH ที่ได้ขายและโอนให้บริษัทของนายณพไปแล้วคืน

ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา (คำเบิกความของนายวีระวงค์วันที่ 31 หัวข้อ 25 และ 26) (ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงของบริษัทนายณพเองที่จะต้องหาทางติดตามเอาเงิน 90.5 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้จ่ายให้บริษัทของนายนพพรไปแล้วคืน) ซึ่งก็เป็นผลให้นาย Calver ไม่ต้องทำการวิเคราะห์ว่า เหตุใดข้อเท็จจริงเหล่านี้ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ผิดกฎหมายหรือไม่สุจริตที่นายนพพรเป็นผู้ก่อขึ้นเองทั้งสิ้นนั้น ไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของนายนพพรเลยในความเห็นของนาย Calver

เมื่อนาย Calver สรุปว่านายนพพรเป็นพยานที่สุจริตน่าเชื่อถือ นาย Calver ก็ใช้ข้ออ้างนี้รับฟังและเชื่อพยานหลักฐานรวมทั้งคำเบิกความในคดีของนายนพพรทั้งหมดต่อไป โดยไม่ย้อนกลับไปใช้หลัก Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence ที่นาย Calver เขียนไว้ในตอนแรกของคำพิพากษาว่าจะต้องใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีอีกเลย 

จึงต้องใช้วิจารณญาณพิจารณากันว่า การที่ผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver สรุปว่านายนพพรเป็นพยานที่สุจริตน่าเชื่อถือ หรือการที่นาย Calver ยืนยันว่าตนเองจะใช้ Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีนั้น เป็นการโกหก-เท็จ แบบที่ 1 แบบที่ 2 หรือแบบที่ 3 (ตามความหมายของ Black’s Law Dictionary) หรือไม่ 

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ใน ประเด็นที่ 2 หรือไม่ อย่างไร

A: ใน ประเด็นที่ 2 ซึ่งนาย Calver ตัดสินว่าพยานฝ่ายจำเลยล้วนให้การเท็จต่อศาลและเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด (… because it is clear that several witnesses (for Defendants) from whom I heard evidence were lying extensively to the court and accordingly their evidence was wholly unreliable - ข้อ 905 หน้า 236 -ของคำพิพากษา) ที่ผมเห็นว่าผิดหลักกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานอย่างชัดเจนมีมากมาย แต่จะขอหยิบยกเพียง 3 ตัวอย่างมาให้พิจารณา คือ 

  • ตัวอย่างที่ 1 นาย Calver ตัดสินว่าคำให้การของนายภาณุซึ่งเป็นพนักงานระดับบริหารของ SCB ไม่น่าเชื่อถือ
  • ตัวอย่างที่ 2 นาย Calver ตัดสินว่าคำให้การของผมซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายในขณะนั้นของ WEH ไม่น่าเชื่อถือ
  • ตัวอย่างที่ 3 นาย Calver ตัดสินว่าเอกสารราชการของประเทศไทยไม่น่าเชื่อถือ

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ใน ตัวอย่างที่ 1 ของประเด็นที่ 2 หรือไม่ อย่างไร

A: ใน ตัวอย่างที่ 1 นี้ นายภาณุ (ซึ่งขณะที่มีปัญหาในคดีนี้เป็นฝ่ายบริหารของ SCB ที่รับผิดชอบดูแลการให้สินเชื่อแก่ WEH) ให้การไว้ว่า คดีอนุญาโตตุลาการสร้างความเสี่ยงสำคัญที่นายนพพรจะกลับมาเป็นผู้ถือหุ้น REC เพราะนายนพพรมุ่งมั่นที่จะยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น REC กับบริษัทของนายณพ โดยอ้างเหตุผิดนัดชำระเงินค่าหุ้น ซึ่งหากนายนพพรกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของ SCB และตราบใดที่ความเสี่ยงนี้ยังคงมีอยู่ต่อไป นายภาณุไม่เชื่อว่าทีมของตน ฝ่ายบริหารสินเชื่อและฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ SCB จะนําเสนอเรื่องเพื่อขอให้คณะกรรมการสินเชื่ออนุมัติให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ได้ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติ การเบิกเงินกู้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การเบิกเงินกู้ของสินเชื่อในโครงการ Watabak จึงถูกระงับไปอย่างเด็ดขาดจนกว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกแก้ไขให้เป็นที่พอใจของ SCB (… if Khun Nopporn did return this would generate the risk of damaging SCB’s reputation. For as long as such a risk was going to persist, I do not think that we (my team, CM and Risk Management) at SCB would have sought the Credit Committee’s approved to waive the outstanding conditions precedent to drawdown, and until that happened drawdown could not take place Drawdown on the Watabak Facility was therefore effectively suspended until these issues could be resolved to SCB’S satisfaction. ข้อ 25 ของคำให้การของนายภาณุ) และในความเป็นจริง SCB ก็ได้กลับมาให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้หลังจากที่ REC ได้ขายหุ้น WEH ออกไปก่อนแล้วถึง 2-3 เดือน 

แต่นาย Calver กลับตัดสินว่า SCB จะให้เงินกู้แก่ WEH โดยไม่ต้องมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเพื่อ ไม่ให้นายนพพรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอีก (คือ การที่ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ขายหุ้น WEH ออกไป) โดยไม่รับฟังคำให้การของนายภาณุเลย เสมือนหนึ่งนายภาณุโกหกซึ่งเป็นพยานของฝ่ายจำเลยโกหกตามที่นาย Calver สรุปเองโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนนอกจากบอกว่าตนเองเชื่อเช่นนั้น 

นาย Calver ตัดสินว่า เขาเชื่อว่า SCB จะต้องให้เงินกู้แก่โครงการ WEH ทั้งหมด (รวมทั้ง Watabak และอีก 5 โครงการถัดไป) อย่างแน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่า WEH จะยังคงมูลค่าได้อย่างมีนัยสําคัญ (สูงกว่ามูลค่าทางบัญชีเป็นอย่างมาก) และจะต้องทำให้ IPO ของ WEH เกิดขึ้นให้ได้ (I find as a fact that SCB would have funded WEH’s projects (including Watabak and the next 5 projects) …ข้อ 1158 หน้า 305 ของคำพิพากษา) ข้ออ้างสำหรับคำตัดสินเช่นนี้ของนาย Calver มีเพียงว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 SCB ได้มีการขออย่างเป็นทางการให้ได้รับการแต่งตั้งจาก WEH ให้เป็นที่ปรึกษาการเงินในการทำ IPO ของ WEH ดังนั้น SCB จึงต้องการให้ IPO เกิดขึ้นให้ได้ (On 22 March 2016 SCB formally sought the WEH IPO Mandate. It was clearly the case the SCB was committed to the IPO of WEH and would do all that it could to ensure that the IPO would go ahead – ข้อ 1158(d) หน้า 305 ของคำพิพากษา)

ทั้งหมดนี้ นาย Calver ตัดสินโดยอ้างความเชื่อของตนเองทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ไม่มีความเข้าใจธุรกิจในประเทศไทยเรื่องการให้กู้เงินและการรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินกรณี IPO และไม่ได้อาศัยพยานหลักฐานที่เป็น Clear and Convincing Evidence จากฝ่ายของนายนพพรมาสนับสนุนคำตัดสินของนาย Calver ใดๆ ทั้งสิ้น และยังขัดแย้งกับคำให้การของนายภาณุ รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ SCB ได้ปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้และไม่พิจารณาการให้สินเชื่ออีก 5 โครงการของ WEH จนกระทั่งมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยการที่ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ขายหุ้น WEH ออกไปด้วย 

จึงต้องใช้วิจารณญาณพิจารณากันว่า การที่ผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver สรุปว่าคำให้การของนายภาณุไม่น่าเชื่อถือ หรือการที่นาย Calver ยืนยันว่าตนเองจะใช้ Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดี แต่ไม่ใช้นั้น เป็นการโกหก-เท็จ แบบที่ 1 แบบที่ 2 หรือแบบที่ 3 (ตามความหมายของ Black’s Law Dictionary) หรือไม่ 

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ใน ตัวอย่างที่ 2 ของประเด็นที่ 2 หรือไม่ อย่างไร

A: ใน ตัวอย่างที่ 2 นี้ ผม (ซึ่งขณะที่มีปัญหาในคดีนี้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ WEH) ให้การว่าการที่ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ขายหุ้น WEH ออกไปก็เพราะหากยังคงถือหุ้นอยู่โครงการ Watabak จะเบิกเงินกู้ไม่ได้และจะทำให้ WEH ไม่สามารถจัดหาสินเชื่อสำหรับอีก 5 โครงการได้ ซึ่งหาก REC ยังคงถือหุ้น WEH อยู่ต่อไป มูลค่าหุ้นของ WEH (ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ REC) ก็จะด้อยค่าลงในทุก ๆ วันที่ผ่านไป เพราะโครงการของ WEH อยู่บนที่ดินที่เช่าจากรัฐซึ่งมีกำหนดเวลา 30 ปี การขายหุ้นของ REC จึงมีเจตนาเพียงแค่เปลี่ยนจากการถือหุ้นมาเป็นเงินสดตามมูลค่าตลาดในวันที่ขายหุ้น ทำให้ REC ไม่ต้องรับความเสียหายเพิ่มเติมอีกต่อไป เพราะ REC แก้ปัญหาไม่ได้ การขายหุ้น WEH ของ REC ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะไปทำให้บริษัทของนายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพ (คำเบิกความของนายวีระวงค์วันที่ 31 หัวข้อ 58 และ 59) 

นาย Calver กลับตัดสินว่าคำชี้แจงของผมนี้เชื่อถือไม่ได้ เพราะนาย Calver เชื่อว่าการขายหุ้น WEH ของ REC นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่าคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่นายนพพรได้มาจะไร้ค่า คือ ไม่ได้รับชําระหนี้ (…to ensure that any award which Mr. Suppipat obtained in the arbitration was rendered nugatory. ข้อ 373 หน้า 101 ของคำพิพากษา) ซึ่งคำตัดสินทั้งหมดนี้ของนาย Calver ขัดกับข้อเท็จจริงซึ่งนาย Calver ทราบดีอยู่แล้วในขณะทำคำพิพากษา กล่าวคือ เมื่อการขายหุ้น WEH ของ REC เกิดขึ้นไปแล้ว หลังจากนั้นจึงมีคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการออกมาตัดสินว่าบริษัทของนายนพพรบอกเลิกสัญญาและเรียกหุ้น REC คืนไม่ได้ และให้บริษัทของนายณพจ่ายเงินค่าซื้อหุ้น REC อีก 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งบริษัทของนายณพได้จ่ายเงินจำนวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้บริษัทของนายนพพรครบถ้วนแล้ว ส่วนดอกเบี้ยยังเป็นข้อพิพาทอยู่ในศาลไทย (คดียังไม่ยุติ) 
นอกจากนี้ ในขณะที่นาย Calver มีคำพิพากษา บริษัทของนายณพยังไม่ได้ติดค้างเงินจำนวนใด ๆ ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชำระแก่บริษัทของนายนพพรเลย (และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มี) 

มีข้อเท็จจริงด้วยว่า ทั้งนายภาณุและผมเคยถูกเรียกไปเป็นพยานในศาลไทย และทั้งสองคนต่างก็ได้เบิกความไว้ในศาลไทยโดยมีเนื้อหาสอดคล้องกับที่ให้การไว้ในคดีนี้ของศาลอังกฤษ (คดีอาญาของศาลอาญา หมายเลขดำที่ อ.2497/2562 ซึ่งนายเกษมเป็นโจทก์ฟ้องคุณหญิงกอแก้วเป็นจำเลยว่าใช้เอกสารปลอม) ซึ่งในคำพิพากษาของศาลอาญาที่ให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นั้น ศาลอาญาได้ตัดสินไว้ว่า แม้นายภาณุและนายวีระวงค์จะเป็นพยานฝ่ายจำเลย แต่ก็มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือความสัมพันธ์พิเศษกับจำเลย คงเบิกความเฉพาะส่วนที่ตนรับรู้และรับผิดชอบในฐานะผู้ให้สินเชื่อและที่ปรึกษากฎหมาย สอดคล้องกับพยานเอกสารที่ปรากฏ มิได้มีผลประโยชน์อื่นที่ต้องสุ่มเสี่ยงเบิกความเป็นเท็จเพื่อช่วยเหลือฝ่ายจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 

การวินิจฉัยของศาลอาญานี้เป็นไปตามหลักกฎหมายไทยเรื่อง “มูลเหตุจูงใจ” (Motive) ซึ่งศาลจะนำมาวิเคราะห์ในการรับฟังพยานหลักฐาน โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนาย Calver เองก็ยอมรับหลักการนี้ (... motive is a vital ingredient of any rational assessment of dishonesty ข้อ 904 c หน้า 236 ของคำพิพากษา) ซึ่งในคดีอังกฤษนี้ผมซึ่งเป็นจำเลยจะต้องสมัครใจให้มีการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ของสำนักงานและส่วนตัว (server, computer, notebook, โทรศัพท์มือถือ) ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผมมีนอกมีในหรือไม่สุจริตใดๆ ในการทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายของผม ส่วนกรณีของนายภาณุก็ไม่มีเช่นกัน ทำให้นาย Calver ไม่สามารถกล่าวอ้าง Motive ใด ๆ ที่จะทำให้นายภาณุและผมต้องมาเบิกความเท็จตามข้ออ้างที่นาย Calver ใช้ในการไม่รับฟังคำเบิกความของนายภาณุและของผมและกล่าวหาว่าโกหกและเชื่อถือไม่ได้ (ซึ่งผิดวิสัยของผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินคดีด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม) นั้นเลย

จึงต้องใช้วิจารณญาณพิจารณากันว่า การที่ผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver สรุปว่าคำให้การของผมไม่น่าเชื่อถือ หรือการที่นาย Calver ตัดสินว่าตนเชื่อว่าการขายหุ้น WEH ของ REC นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้ตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งผิดข้อเท็จจริงและไม่ได้ใช้ Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีนั้น เป็นการโกหก-เท็จ แบบที่ 1 แบบที่ 2 หรือแบบที่ 3 (ตามความหมายของ Black’s Law Dictionary) หรือไม่ 

Q: มี “การโกหก-เท็จ” โดยนาย Calver ใน ตัวอย่างที่ 3 ของประเด็นที่ 2 หรือไม่ อย่างไร

A: ใน ตัวอย่างที่ 3 ซึ่งนาย Calver ตัดสินว่าเอกสารราชการของประเทศไทยไม่น่าเชื่อถือนี้เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าการโอนหุ้นวินด์จากบริษัท REC ไปยังนายเกษม (ในฐานะตัวแทนของคุณหญิงกอแก้ว) ได้เกิดขึ้นโดยถูกต้องแล้วหรือไม่ เมื่อใด ซึ่งนาย Calver ไม่ยอมรับความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงของเอกสารที่ได้นําเข้าแสดงเป็นหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งเป็นเอกสารของหน่วยราชการของประเทศไทย คือ 
(1) ตราสารการโอนหุ้น ลงวันที่ 25 เมษายน 2559 (2016) ซึ่งนํามาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์เพื่อให้ออกใบสลักหลังตราสาร 
(2) ใบสลักหลังตราสาร ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 (2016) ออกให้โดยกรมสรรพากร
(3)  ใบเสร็จรับเงิน 2016 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 (2016) ออกให้โดยกรมสรรพากร 

ทั้งนี้ผมได้เบิกความชี้แจงไว้ด้วยว่า กฎหมายกำหนดให้การสลักหลังตราสารการโอนหุ้นเพื่อจ่ายอากรแสตมป์ต้องทำภายใน 15 วัน นับจากวันทำตราสารการโอนหุ้น ซึ่งวันที่ 10 พฤษภาคม คือวันครบกำหนด 15 วันนับจากวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ทำตราสารการโอนหุ้น

ในประเด็นนี้ นาย Calver เขียนไว้ในคําพิพากษาว่าตนเองไม่ยอมรับว่าการซื้อขายเกิดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน 2559 และตัดสินว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะยืนยันได้ว่าตราสารการโอนหุ้นเกิดขึ้นเมื่อใด (In the light of the foregoing, whilst I do not accept that it occurred on 25 April 2016, it is not possible to establish precisely when the Kasem Transfer Instrument was created. ข้อ 539 หน้า 147 ของคําพิพากษา) ซึ่งเท่ากับว่านาย Calver ไม่ยอมรับความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงของเอกสารราชการของประเทศไทย โดยไม่มีพยานหลักฐานใดที่นายนพพรนำเข้ามาสืบหักล้างทั้งสิ้น

จึงต้องใช้วิจารณญาณพิจารณากันว่า การที่ผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver สรุปว่าเอกสารราชการของประเทศไทยไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งผิดข้อเท็จจริง และไม่ได้ใช้ Proof by Clear and Convincing Evidence หรือ Cogent Evidence เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีนั้น เป็นการโกหก-เท็จ แบบที่ 1 แบบที่ 2 หรือแบบที่ 3 (ตามความหมายของ Black’s Law Dictionary) หรือไม่