PwC คาด1 ใน 6 บริษัทบริหารความมั่งคั่งไปไม่รอดในอีกห้าปีข้างหน้า

18 ส.ค. 2566 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2566 | 13:04 น.

นักลงทุน-ผู้จัดการสินทรัพย์กังวล 3ปัจจัยในช่วง 12 - 24 เดือนข้างหน้า ขณะครึ่งปีแรกมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยเพิ่มขึ้น 1.84%หลังผู้จัดการกองทุนปรับกลยุทธ์ทั้งในและนอกประเทศเผชิญความท้าทายทั้ง “เศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดผันผวน”

 รายงานผลสำรวจ Global Asset and Wealth Management Survey ประจำปี 2566 ของ PwC ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากการคาดการณ์ของอุตสาหกรรม และการสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการสินทรัพย์จำนวน 250 ราย และนักลงทุนสถาบันจำนวน 250 ราย แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งที่กำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ความคาดหวังของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป การควบรวมกิจการ และการซื้อขายสินทรัพย์นอกตลาดโดยนักลงทุนรายย่อย

 

ด้วยเหตุนี้ 73% ของผู้จัดการสินทรัพย์ กำลังมีการพิจารณาการควบรวมเชิงกลยุทธ์กับผู้จัดการสินทรัพย์รายอื่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ สร้างส่วนแบ่งการตลาด และลดความเสี่ยง

 

นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่มธุรกิจจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่ง ก็มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยมากกว่า 90% ของผู้จัดการสินทรัพย์ได้ใช้เทคโนโลยี อย่าง บิ๊กดาต้า เอไอ และบล็อกเชน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการลงทุน

 

ผลลัพธ์โดยตรงของแรงกดดันเหล่านี้ และแรงผลักดันที่จะส่งมอบในระดับที่เพียงพอท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนและการแข่งขัน ทำให้ PwC คาดการณ์ว่า 10 อันดับผู้จัดการสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดจะควบคุมสินทรัพย์กองทุนรวมประมาณครึ่งหนึ่งของโลกภายในปี 2570 โดยเพิ่มขึ้นจาก 42.5% ในปี 2563

 

ทั้งนี้ ผู้จัดการสินทรัพย์ได้เผชิญกับความยากลำบากในปี 2565 โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั่วโลก ลดลงเหลือ 115.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 พันล้านล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดในปี 2564 (127.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.5 พันล้านล้านบาท) เกือบ 10% และเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบทศวรรษ

 นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า เงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาด และการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นความกังวลที่ใหญ่ที่สุดสำหรับทั้งนักลงทุนและผู้จัดการสินทรัพย์ในช่วง 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม PwC คาดการณ์ว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการจะฟื้นตัวได้ภายในปี 2570 โดยแตะที่ 147.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.1 พันล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5%

 

นางสาว โอลวิน อเล็กซานเดอร์ หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งทั่วโลก PwC ประเทศไอร์แลนด์ กล่าวว่า ความท้าทายที่มีอยู่กำลังกวาดล้างอุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทางเลือกที่มีอยู่นั้นก็คือ ปรับตัวให้เข้าบริบทใหม่ หรือล้มเหลว

โดยบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI) และหุ่นยนต์เอไอที่ให้บริการวางแผนการลงทุน สร้างช่องทางที่มีความหมายกับลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบัน กระจายการสรรหาบุคลากร และส่งมอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าให้แก่ลูกค้า จะไม่เพียงอยู่รอดเท่านั้น แต่ยังจะเติบโตได้”

 

นอกจากนี้ ผลจากการสำรวจและประเด็นสำคัญอื่น ๆ จากรายงาน ประกอบด้วย

 

ผู้จัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งกำลังหันไปใช้เอไอ เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน และจัดทำดัชนีเฉพาะบุคคล

PwC คาดการณ์ว่า สินทรัพย์ที่จัดการโดยหุ่นยนต์ที่ปรึกษาจะมีมูลค่าถึง 5.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 206.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2570 ซึ่งมากกว่าสองเท่าของตัวเลขในปี 2565 ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 87.3 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ การจัดทำดัชนีเฉพาะบุคคล ยังได้รับความนิยม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มนักลงทุนที่แสวงหาสิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงผู้ที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, social and governance: ESG) การลงทุนด้วยการใช้ข้อมูลสร้างกติกาในการลงทุน (Factor investing) และการสร้างพอร์ตการลงทุนด้วยอัลกอริทึม

ทั้งนี้ เกือบ 40% ของนักลงทุนสถาบัน กำลังวางแผนที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์การจัดทำดัชนีแบบกำหนดเองในอีก 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้จัดการสินทรัพย์คาดว่า จะเพิ่มโซลูชันการจัดทำดัชนีเฉพาะบุคคลในข้อเสนอของตน โดย PwC คาดการณ์ว่า ในปี 2570 มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของดัชนีที่กำหนดเองโดยตรง จะมีมูลค่ามากกว่าสามเท่าเป็น 1.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 51.3 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 1% ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมด

ขณะที่คาดการณ์ด้วยว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Traded Fund: ETF) ที่ใช้งานอยู่ จะเพิ่มขึ้นจาก 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 160.7 พันล้านบาท) เป็น 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38.4 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 7.5% ของตลาด ETF ทั่วโลกในปี 2570

 

ตลาดสินทรัพย์การลงทุนที่ซื้อขายกันนอกตลาด จะขับเคลื่อนการเติบโตและผลตอบแทนของอุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่ง

รายงานยังแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังกลับเข้าสู่ภาวะการเติบโต และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายลง รายได้ของอุตสาหกรรมจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งทั่วโลกจะกลับมาแตะระดับ 622.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21.7 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2570 ซึ่งทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 599.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20.9 ล้านล้านบาท) ของปี 2564

ทั้งนี้ PwC คาดการณ์ว่า การเติบโตนี้จะมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดสินทรัพย์การลงทุนที่ซื้อขายกันนอกตลาด ซึ่งจะคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้จากการจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งของโลกภายในปี 2570 หรือเพิ่มขึ้นจาก 37.6% ในปี 2563 ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์การลงทุนที่ซื้อขายกันนอกตลาด ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 10.6% ของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดในปี 2565 จะขับเคลื่อน 49.7% ของรายได้ทั่วโลกภายในปี 2570

 ในขณะเดียวกัน การลงทุนแบบเชิงรับ จะช่วยขับเคลื่อนรายได้เพียง 6.4% ของรายได้ทั่วโลกภายในปี 2570 แม้ว่าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 26.4% ของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั่วโลกในปี 2565

 

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตลาดเกิดใหม่จะเป็นผู้กำหนดการเติบโต

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง จะเป็นผู้กำหนดการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ในสถานการณ์กรณีพื้นฐานของ PwC คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตในเอเชียแปซิฟิกจะสูงกว่าอเมริกาเหนือที่ประมาณ 50% ภายในปี 2570 และสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางที่อุตสาหกรรมขยายตัวช้าก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบที่ซับซ้อน คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากองค์กรจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่งที่แสวงหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ ได้สร้างช่องทางเพื่อรุกเข้าสู่ภูมิภาคที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้

 

เป้าประสงค์ DEI และ ESG มีความจำเป็น

องค์กรจัดการสินทรัพย์และความมั่งคั่ง กำลังเปิดรับการเติบโตด้วยเป้าประสงค์ และ ESG ในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero transition) ควบคู่ไปกับความจำเป็นในด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาความหลากหลาย ความเสมอภาค

 และการมีส่วนร่วม (Diversity, equity and inclusion: DEI) ทั่วทั้งอุตสาหกรรม โดยมากกว่าครึ่ง (57%) ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า เห็นพนักงานเรียกร้องให้องค์กรมีการเปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบที่องค์กรมีต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ 50% เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG อย่างไรก็ตาม มีเพียง 37% เท่านั้นที่กล่าวว่า นายจ้างกำลังดำเนินการปรับปรุง DEI

 

นาย จอห์น การ์วี่ หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การฟื้นตัวของมูลค่าหุ้นในช่วงหกเดือนแรกของปี 2566 ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถในการกลับสู่ภาวะปกติของตลาด และประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง

อันที่จริง เราได้เห็นการเกิดขึ้นของบริษัทการลงทุนสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีการใช้งานเทคโนโลยีเอไอ มุ่งเน้นที่ลูกค้า และพร้อมที่จะดำเนินงานในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งภายในและภายนอกสินทรัพย์แบบดั้งเดิมและการจัดการความมั่งคั่ง

 

ด้านนางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทยในปีที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่นเดียวกับทั่วโลก

แต่เอไอจะยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารกองทุนรวมและพอร์ตการลงทุนส่วนตัวมากขึ้นในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า โดยวันนี้เราเห็นการนำ robo-advisor เข้ามาช่วยในการบริหารการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณ การลงทุนเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือการออมสำหรับลูกหลาน และอื่น ๆ

 ซึ่งคาดว่า ในระยะข้างหน้า เอไอจะยิ่งถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและโซลูชันการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและนักลงทุนให้ดีกว่าที่เคย นอกเหนือไปจากการนำเอไอมาช่วยวิเคราะห์ภาวะตลาด คาดการณ์ผลประกอบการ และให้คำแนะนำสำหรับการลงทุน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies: AIMC) ระบุว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในปี 2565 อยู่ที่ 4.87 ล้านล้านบาท หรือ ลดลง 9.14% จากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.36 ล้านล้านบาท

 

สำหรับหกเดือนแรกของปีนี้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยอยู่ที่ 4.96 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.84% จากสิ้นปี 2565 เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์ในการบริหารเงินลงทุนของผู้จัดการกองทุนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะตลาดหุ้นและตราสารหนี้ที่มีความผันผวน