มรสุม STARK ฉุดความเชื่อมั่น “หุ้นกู้” ระดมทุนยากหากไร้ เรทติ้ง

14 ส.ค. 2566 | 07:00 น.
837

หลังจากช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน “หุ้นกู้” ส่วนหุ้นกู้ไร้เรทติ้ง ยากที่จะขายหมดตามวงเงิน

จากปัญหาประเด็นร้อน สั่นสะเทือนวงการตลาดทุนไทย ของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" ซึ่งแต่งบัญชีตบตา ถ่ายเงินออกจากบริษัทจนไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ต่างหน้า 

ลุกลามมาจนส่งผลกระทบต่อการไถ่ถอน "หุ้นกู้" จำนวนกว่า 9,100 ล้านบาท ตอกย้ำถึงความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้แม้จะออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม

รวมทั้งจากปริมาณการซื้อขายรายวันที่เบาบาง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง และยังบีบทำให้นักลงทุน ต้องออกมามองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระดับดี และมีความเสี่ยงต่ำ ทดแทน

นักวิเคราะมองตลาด หุ้นกู้ วิกฤติ นักลงทุนไม่เชื่อมั่น ทำบริษัทจดทะเบียนระดมทุนยาก

นายไพโรจน์ เหลืองเถลิงพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า ระบุว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ถือเป็นช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งจากประเด็นด้านการเมืองที่ยังไม่มีข้อสรุป และสถานการณ์จากทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายที่กำลังเปลี่ยนแปลง 

ประกอบกับนักลงทุน มีความกังวลสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้ ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง หลังหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางราย ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ ทำให้ความต้องการซื้อ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ลดลง

ทำให้บริษัทที่ต้องการออกจำหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่ เพื่อทดแทนรุ่นเดิม (Roll over) ต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ก็ไม่ช่วยอะไรได้มากนัก เนื่องจากนักลงทุนให้ความไว้วางใจกับหุ้นกู้ของบริษัทที่มีเชื่อเสียง และมีความมั่นคงมากกว่า 

ดังนั้นหุ้นกู้ในบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง รวมทั้งหากไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) การออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทนชุดเดิมก็ยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหุ้นกู้ Non-rated ที่กำลังจะ Roll over มีมูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาท

หุ้นกู้เรทติ้งสูงยังขายได้ แต่ถ้าต่ำลงมายากที่จะขายหมดตามยอดเงินที่ต้องการระดมทุน หลังนักลงทุนระวังมากขึ้น

สำหรับในช่วงที่ผ่านมา ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 มีผลตอบแทนที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2565 ที่ 0.44% 

ขณะที่ตราสารหนี้ที่มีเครดิต ณ สินเดือนกรกฎาคม 2566 ระดับ AA มีผลตอบแทน 3.43% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี0.36% ระดับ A มีผลตอบแทน 3.65% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 0.40% และระดับ BBB มีผลตอบแทน 5.38% เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 0.35%

โดยทาง ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ "ฐานเศษฐกิจ" ว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีเครดิตถือได้ว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน 

แม้จะมีปัญหาในหุ้นกู้ STARK ก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดไม่ได้ตกใจกับปัญหาดังกล่าวจนถึงขั้นเทขายทิ้งหุ้นกู้ออกมา เพราะนักลงทุนในตลาดมีความรู้ความเข้าใจสามารถแยกแยะออกว่า เป็นเหตุการณ์เฉพาะรายบริษัท ซึ่งภาพรวมตลาดยังไม่ได้แย่ลง

แต่ต้องยอมรับว่าภาพรวมในตลาดหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้น จากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของทาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งรวม 1% 

โดยสะท้อนจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลจากสิ้นปีปรับเพิ่ม 0.44% และหุ้นกู้ระดับ BBB ปรับขึ้น 0.35% (ระดับเดียวกับหุ้นกู้ STARK) 

หากมองในภาพรวมถือได้ว่าตลาดหุ้นกู้ มีต้นทุนปรับขึ้นสอดคล้องกับพันธบัตรรัฐบาล แต่ในส่วนของการขาย หุ้นกู้ที่มีเรทติ้งสูงยังพอขายได้ แต่ถ้าต่ำลงมาเริ่มเห็นภาพของการขายที่ไม่ครบจำนวนตามวงเงินที่ตั้งใจระดมทุน

ดร.สมจินต์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนที่จะซื้อหุ้นกู้นั้น ควรจะต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรว่าอยู่ในระดับกี่เท่าของอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

5 สิ่งควรรู้ก่อนลงทุน “ตราสารหนี้”

แต่หากไม่มีเวลาเพียงพอในการหาข้อมูล ต้องอาศัยบริษัทที่มีการจัดเครดิตเรทติ้ง เพื่อช่วยประกอบในการตัดสินใจการลงทุน แต่ไม่ได้หมายความว่ารับประกันได้แม้จะเป็นบริษัทจัดอันดับขนาดใหญ่ให้เรทติ้ง

เพราะสามารถเกิดข้อผิดพลาดได้ อย่างในกรณีของ STARK ที่ถือเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ซึ่งในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้

ดังนั้นหากจะตัดสินใจลงทุนไม่ควรลงทุนเกิน 5-10% ในทรัพย์สินโดยรวม เพื่อป้องกันผลกระทบหากเกิดกรณีแบบ STARK รวมทั้งควรเลือกหุ้นกู้ที่มีเครดิต และกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

หน่วยงานกำกับดูแลพร้อมทำงานเต็มที่ ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอย

ดร.สมจินต์ ระบุว่า ในมุมมองผู้มีวิชาชีพในตลาดทุนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารบริษัท คณะกรรมการบริษัท บริษัทเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยงานที่กำกับดูแล จะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น 

ในการบริหารจัดการทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยกันเฝ้าดูสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ร่วมมือป้องกันและแก้ไขหากมีปัญหาเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทุกหน่วยงานมีการพยายามอย่างเต็มที่ ในการป้องกันเหตุการณ์ในรูปแบบนี้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และเชื่อว่าจะมีมาตรการต่างๆออกมาในเร็วเร็วนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง

"การสร้างความน่าเชื่อถือของระบบผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญเพราะมองว่าตลาดทุนเติบโตได้ด้วยความน่าเชื่อถือผมเคยได้ยิน อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า เราอยู่ในธุรกิจของความไว้วางใจ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และเต็มความสามารถเพื่อให้ ความเชื่อถือค่อยค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ" ดร.สมจินต์ กล่าว