ย้อนรอย “ชนินทร์” หอบเงิน STARK หนีก่อน DSI อายัดบัญชีเครดิตสวิส

12 ส.ค. 2566 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2566 | 09:08 น.
7.3 k

ย้อนเส้นทางการเงิน “นายชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานกรรมการ STARK ก่อน DSI เข้าอายัดบัญชีเครดิตสวิส ถอนออก 4 ครั้ง กว่า 1,400 ล้านบาท เหลือติดบัญชีไว้แค่เพียง 200 ล้านบาท

ประเด็นร้อมปมคดีหุ้น STARK ที่สร้างความเสียหายต่อนักลงทุน ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ ยันกองทุน รวมทั้งธนาคารต่างๆ ที่เข้าไปรวมวงพังยับตามๆ กันนั้น ความชัดเจนของเส้นทางการเงินที่โยกย้ายถ่ายเทเงินหอบหนีออกไปยังต่างประเทศเริ่มเห็นชัดมากขึ้น 

จากการแกะรอยเส้นทางการเงินของทีมสอบสวนของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ที่ล่าสุดออกมาแถลงว่าพนักงานสอบสวนได้สอบเส้นทางการเงิน และอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของ "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตประธานกรรมการ STARK ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ 220 ล้านบาท

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทาง DSI ได้มีการอายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่ประกอบด้วยที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านจำนวน 1 หลัง ไปก่อนหน้านี้ ยังคงอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่า

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปย้อนรอยข้อมูลเส้นทางการเงิน และช่วงระยะเวลาการโอนเงินของ นายชนินทร์ ก่อนถึงการเข้าอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส โดยอดีตประธานกรรมการ STARK ได้ทยอยถอนเงินที่เปิดบัญชีไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส "Credit Suisse" ออกไปกว่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท จนเหลือเงินติดบัญชีเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่ใกล้เคียงกับการเข้าอายัดบัญชีของทาง DSI

เส้นทางการถอนเงินของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ”

จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานตรวจสอบพบว่าในช่วง เดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน 2566 พบว่า บัญชีเครดิตสวิส ของ นายชนินทร์ มีการถอนเงินออกจากบัญชีรวมทั้งหมด 4 ครั้ง รวมวงเงินกว่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐหากคิดเป็นเงินไทยจะมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ดังนี้

  • เดือน มีนาคม 2566 ถอนเงินออก 19 ล้านดอลลาร์
  • เดือน เมษายน 2566 ถอนเงินออก 8 ล้านดอลลาร์
  • เดือน พฤษภาคม 2566 ถอนเงินออก 13 ล้านดอลลาร์
  • เดือน มิถุนายน 2566 ถอนเงินออก 1.5 ล้านดอลลาร์

แม้ในการแถลงข่าวรอบล่าสุดของทาง DSI นั้นจะระบุว่าการอายัดบัญชีจะช่วยนำเงินในส่วนนี้มาเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหายแต่หากเทียบน้ำหนักวงเงินที่โยกย้ายหนีถ่ายออกนั้นแตกต่างกันมาก

ระหว่าง 41 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท กับ 6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คงต้องเอาใจช่วยหน่วยงานรัฐว่าจะเร่งเก็บกวาดติดตามเงินส่วนที่เหลือคืนมาได้อย่างไร แม้ดูแล้วน่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยก็ตาม 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) รายหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการโอนเงินว่า ช่วงเวลาที่มีการถอนเงิน บริษัทหลักทรัพย์ เครดิตสวิส ทราบหรือไม่ว่า STARK มีปัญหาการตกแต่งบัญชี 

และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ ถือเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบในประเด็นนี้ รวมทั้งการดำเนินการกำกับดูแลในเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานรัฐล่าช้าเกินไป หรือไม่