ตามคาด"วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ"ลาออกบอร์ด SCB และบ.ย่อย เซ่นปมคดี "วินด์ฯ"

03 ส.ค. 2566 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 11:27 น.
1.0 k

"วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ" ลาออกจากกรรมการ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ( SCB ) และ บริษัทคาร์ด เอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีผล 2 ส.ค.66 หลังศาลอังกฤษตัดสินให้"ณพ ณรงค์เดช"และพวกแพ้คดี "วินด์เอนเนอร์ยี่ "

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการบริษัทคาร์ด เอกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้นายวีระวงค์  ได้แจ้งลาออกจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาด ฯ รวมแล้ว 3 แห่ง โดย 2 บจ.ก่อนหน้านี้อยู่ในเครือไทยเบฟ คือ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC  และ บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ที่มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ภายหลังจากที่ศาลอังกฤษ มีคำตัดสินให้ "นายณพ ณรงค์เดช" และพวกต้องจ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูกนายนพพร ฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH และปรากฏมีชื่อ นายวีระวงค์ ตกเป็นจำเลยลำดับที่ 13 ในคดีนี้ด้วย 

ประวัติวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ 

  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านนิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเนติ บัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นอกจากนี้ นายวีระวงค์ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นเนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ อเมริกา และยังสำเร็จหลักสูตร Director Certification Program (DCP) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท)

ขณะที่ประสบการณ์ ตลอดจนผลงานมีความสามารถโดดเด่นโดยเฉพาะดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่ ให้กับธุรกิจชั้นนำในไทยหลายแห่ง ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานกฎหมาย Weerawong, Chinnavat & Partners หรือ WCP มีมากมาย

อาทิ เป็นตัวแทนของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ในการเข้าซื้อสาขาของห้างค้าปลีกเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซียเมื่อปี 2563 มูลค่า 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 3.1 แสนล้านบาท

ปี 2562 ลุยดีลให้กับไทยเบฟเวอเรจ และเฟรเซอร์แอนด์นีฟ ในการร่วมทุนกับแม็กซิม กรุ๊ป(Maxim’s Group) ยักษ์อาหารของฮ่องกง ในการเข้าซื้อกิจการร้านสตาร์บัคส (Starbuck) ในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อเป็นเแฟรนไชส์รายเดียว ด้วยมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ หรือราว 20,000 ล้านบาท
 

เป็นตัวแทนไทยเบฟในการเข้าซื้อกิจการ 4,830 ล้านดอลลาร์ หรือมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท เพื่อครองหุ้น 53.9% ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ(SABECO) เบียร์เบอร์ 1 ของเวียดนาม และทำให้ก้าวเป็นเบียร์เบอร์ 1 ในอาเซียน

เป็นตัวแทนไทยเบฟในการเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในประเทศเมียนมา มูลค่า 726.6 ล้านดอลลาร์ ทำให้ได้แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป สุราเบอร์ 1 เมียนมา อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ

เป็นตัวแทน ไทยเบฟ ซื้อกิจการ “ฮาวี่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย)” มูลค่า 240 ล้านบาท เสริมแกร่งการขนส่งสินค้าควบคุมอุณภูมิ

เป็นตัวแทนให้กับไทยเบฟ ผ่านบริษัทในเครืออย่าง คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ซื้อกิจการร้านไก่ทอดเบอร์ 1 “เคเอฟซี” 240 สาขา ด้วยมูลค่า 11,300 ล้านบาท เติมเต็มธุรกิจร้านอาหารและขึ้นเบอร์ 1 ที่มีร้านไก่ทอดมากสุดจาก 3 แฟรนไชส์ในประเทศไทย