ส่องประวัติ "วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ" หลังลาออกบอร์ดเครือไทยเบฟ

02 ส.ค. 2566 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 09:50 น.
5.9 k

ส่องประวัติ "วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ" หลังลาออกบอร์ดเครือไทยเบฟ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้ว ทั้งด้านการศึกษา ประสบการณ์ และผลงานเด่นในวงการธุรกิจ ตำแหน่งในบริษัทอื่น

จากกรณีคำตัดสินของศาลอังกฤษ ต่อคดีวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ฯ ได้ส่งผลกระทบต่อนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ เจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ ณรงค์เดช โดยเฉพาะการลาออกจากบอร์ดธุรกิจเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

หลังศาลอังกฤษมีคำตัดสินเมื่อ 31 ก.ค.2566 ให้นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 30,000 ล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) จากการที่ถูกนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) กลายเป็นจำเลยคนที่ 13 ของคดีดังกล่าว 

จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ นั้น พบว่าปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของหลายบริษัท ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ อาทิ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตำแหน่งกรรมการ, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ตำแหน่งกรรมการ

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIG C ตำแหน่งรองประธานกรรมการ และ บริษัท ยักษา จำกัด ตำแหน่งกรรมการ

อย่างไรก็ดี ล่าสุด พบว่าขณะนี้ นายวีระวงค์ อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง ซึ่งประเด็หลักมาจากการที่นายวีระวงค์มีส่วนเข้าไปพัวพันกับคดีที่ประเทศอังกฤษในฐานะจำเลย ซึ่งขณะนี้ได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วและอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของนายวีระวงค์ในฐานะเป็นกรรมการบริษัทขนาดใหญ่ และนักกฎหมายที่เข้ามาดำรงตำแหน่งด้วย

โดยวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา หลายบริษัทที่ “วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ” นั่งเป็นกรรมการบริหารหรือบอร์ด ได้แจ้งลาออก หนึ่งในนั้นคือเครือธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีแถวหน้าของเมืองไทย และเป็นเจ้าของอาณาจักร “ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น” หรือทีซีซี กรุ๊ป

  • บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ มีผลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
  • บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า กรรมการบริษัท และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืนของบริษัท แจ้งความประสงค์ลาออกจากกรรมการทุกตำแหน่งของบริษัท เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
     

ประวัติวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ 

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทในสาขาเดียวกันจาก University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเนติ บัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นอกจากนี้ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นเนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ อเมริกา และยังสำเร็จหลักสูตร Director Certification Program (DCP) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท)

ขณะที่ประสบการณ์ ตลอดจนผลงานเด่นในวงการธุรกิจภายใต้สำนักงานกฎหมาย Weerawong, Chinnavat & Partners หรือ WCP มีมากมาย

  • เป็นตัวแทนของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์(BJC)ในการท้าชิงซื้อสาขาของห้างค้าปลีกเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซียเมื่อปี 2563 มูลค่า 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 3.1 แสนล้านบาท
  • ปี 2562 ลุยดีลให้กับไทยเบฟเวอเรจ และเฟรเซอร์แอนด์นีฟ ในการร่วมทุนกับแม็กซิม กรุ๊ป(Maxim’s Group) ยักษ์อาหารของฮ่องกง ในการเข้าซื้อกิจการร้านสตาร์บัคส(Starbuck)ในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อเป็นเแฟรนไชส์รายเดียว ด้วยมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ หรือราว 20,000 ล้านบาท
  • เป็นตัวแทนไทยเบฟในการเข้าซื้อกิจการ 4,830 ล้านดอลลาร์ หรือมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท เพื่อครองหุ้น 53.9% ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ(SABECO) เบียร์เบอร์ 1 ของเวียดนาม และทำให้ก้าวเป็นเบียร์เบอร์ 1 ในอาเซียน
  • เป็นตัวแทนไทยเบฟในการเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเมียนมา มูลค่า 726.6 ล้านดอลลาร์ ทำให้ได้แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป สุราเบอร์ 1 เมียนมา อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ
  • เป็นตัวแทน ไทยเบฟ ซื้อกิจการ “ฮาวี่ โลจิสติกส์(ประเทศไทย)” มูลค่า 240 ล้านบาท เสริมแกร่งการขนส่งสินค้าควบคุมอุณภูมิ
  • เป็นตัวแทนให้กับไทยเบฟ ผ่านบริษัทในเครืออย่าง คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ซื้อกิจการร้านไก่ทอดเบอร์ 1 “เคเอฟซี” 240 สาขา ด้วยมูลค่า 11,300 ล้านบาท เติมเต็มธุรกิจร้านอาหารและขึ้นเบอร์ 1 ที่มีร้านไก่ทอดมากสุดจาก 3 แฟรนไชส์ในประเทศไทย