คลังแจงข้อแตกต่าง “งบกลาง-มาตรา 28” แก้ข่าวเงินปี 66 ไม่พอใช้

21 ก.ค. 2566 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2566 | 10:24 น.

คลังแจงประเด็นพาดหัวข่าวว่า งบกลาง-รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ลดลงเหลือ 18,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในงบปี 66 พร้อมชี้ข้อแตกต่างมาตรา 28

กรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการพาดหัวข่าวว่า งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ล่าสุดได้ลดลงเหลือ 18,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 และทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมนั้น

ล่าสุด นายพรชัย  ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงกรณีการพาดหัวข่าวดังกล่าวเกี่ยวกับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีความไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของข่าวที่เป็นการพูดถึงวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งเป็นแหล่งเงินที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างจาก งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

กระทรวงการคลังจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นรายจ่ายในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ จำนวน 92,400 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้ว ประมาณ 52,000 ล้านบาท อาทิ

  • โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565
  • มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเมษายน 2566 เป็นต้น

(2) ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ นั้น เป็นวงเงินที่ใช้สำหรับกรณีที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง

โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

นายพรชัย กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐในปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท โดย ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว ทั้งสิ้น 2.564 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่เหลือในปีงบประมาณ 2566 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) รัฐบาลจะเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้