คลัง แนะ “คปภ.” ออกประกันโครงสร้างพื้นฐานรัฐ หลังก่อสร้างเสร็จ

19 ก.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 13:38 น.

รมว.คลัง เสนอ คปภ พิจารณาการออกกรมธรรม์ประกันภัยโครงสร้างพื้นฐานรัฐ หลังก่อสร้างเสร็จ ชี้ปัจจุบันมีเฉพาะประกันระหว่างการก่อสร้าง พร้อมแนะออกประกันผลผลิตผลไม้ ลดความเสี่ยงเกษตรกร

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา CEO Insurance Forum ในหัวข้อ “ธุรกิจประกันภัยกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” ว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พิจารณาการออกแบบกรมธรรม์ ในการประกันภัยโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ 

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น สะพาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกรมธรรม์ประเภทนี้ มีแต่เพียงกรมธรรม์ที่รับประกันงานในระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น ส่วนโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว ยังไม่มีกรมธรรม์ที่จะเข้ามารับประกัน

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยในการรับประกันความเสียหายของต้นทุเรียน หรือผลไม้ทางเศรษฐกิจต่างๆ  จากภัยธรรมชาติ แต่ชาวสวนผลไม้อยากเห็นการประกันตัวผลผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทประกันยังไม่พิจารณาในข้อเสนอนี้ เนื่องจากเมื่อเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติมักเสียหายในมูลค่าที่สูง เช่น กรณีไร่ส้มที่เชียงราย ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพายุ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นหลักร้อยกว่าล้านบาท

ทั้งนี้ อยากให้ คปภ.ไปพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกแบบกรมธรรม์ดังกล่าว ซึ่งอาจต้องพิจารณาเบี้ยประกันตามความเสี่ยงด้วย ซึ่งหากมีกรมธรรม์ประเภทดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ชาวสวนผลไม้มีความมั่นใจมากขึ้นในการปลูกผลไม้ที่มีมูลค่าทางตลาดที่สูง

ขณะที่การออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น ขอให้ไปพิจารณาเบี้ยประกันตามความเสี่ยงที่เป็นจริง จากปัจจุบันที่เบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีเบี้ยประกันภัยที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ สาเหตุที่บริษัทประกันภัยคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าในอัตราที่สูง เนื่องจากมองว่าการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายที่สูง

ส่วนแผนการพัฒนาประกันภัยของประเทศ จะต้องสอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ  ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาในแนวทางของ Sustainable Development Goal (SDG) ซึ่งปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อแนวทางดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจาก Climate Change ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันภาคเอกชนไทย ให้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในแนวทางของ ESG ส่วนภาครัฐก็ให้ความสำคัญต่อแนวทาง BCG ซึ่งทั้งสองแนวทาง ก็ครอบคลุมแนวทางของสหประชาชาติ