สำนักงบชงรัฐบาลใหม่ เร่งดันงบ 3.35 ล้านล้าน

13 ก.ค. 2566 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 10:17 น.

สำนักงบประมาณลุ้น ตั้งรัฐบาลใหม่เร็ว เร่งชงจัดทำงบ 67 พร้อมร่นขั้นตอนไม่ให้กระทบการใช้จ่าย จะรื้อใหม่หรือไม่ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล ด้านบัญชีกลาง ยอมรับกระทบเบิกจ่ายงบลงทุน เหตุเบิกได้เฉพาะงบผูกพันต่อเนื่อง

หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนหลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จคือ การจัดทำงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 593,000 ล้านล้านบาท ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณเดิม ขณะนี้ต้องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการธิการแล้ว ก่อนจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระ 2 และ 3 และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อประกาศใช้ให้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นและได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักงบประมาณจะขอรับมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จากรัฐบาลใหม่ทันที เพื่อจะได้รับทราบว่า กรอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร พร้อมทั้งจะเร่งเสนอร่างปฏิทินงบประมาณฉบับใหม่ให้ครม.พิจารณาต่อไป

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

“ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องดูว่า จะพิจารณาแบบไหน มีโครงการอะไร หรือมีนโยบายอะไรบ้าง ใช้จ่ายอะไรเอาเงินตรงไหนลงได้บ้าง เพิ่มตรงไหน งบประมาณพอไหม หรือไม่พอ ถ้าต้องขอเพิ่มต้องคุยตอนนี้มีงบเท่าไหร่ หาจากตรงไหนบ้าง เมื่อได้ข้อสรุป จึงปรับรายละเอียดงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล” นายเฉลิมพล กล่าว

ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 ตอนนี้ยังตั้งไว้ตามเดิม คือ วงเงินรวม 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,490,860.5 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 717,199.6 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 593,000.0 ล้านบาท โดยมีประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 19,421,600 ล้านบาท

สำนักงบชงรัฐบาลใหม่ เร่งดันงบ 3.35 ล้านล้าน

หากจำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ประกอบด้วย งบกลาง 601,745.0 ล้านบาท รายจ่ายของหน่วยรัฐงบประมาณ 1,148,298.1 ล้านบาท รายจ่ายบูรณาการ 210,249.0 ล้านบาท รายจ่ายบุคลากร 790,029.5 ล้านบาท ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท ชำระหนี้ภาครัฐ 336,807.0 ล้านบาท และชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท

“การจัดทำงบประมาณ จะต้องเริ่มขั้นตอนใหม่ทั้งหมดหรือไม่ ต้องดูความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลก่อน จากนั้นจึงค่อยมาประเมินอีกครั้งว่า จะเป็นอย่างไร ถ้าสามารถทำได้เร็ว ก็ต้องดูว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งสำนักงบประมาณได้รายงานให้กับครม.รับทราบไปเบื้องต้นแล้วว่า ปัจจุบันมีการตั้งงบประมาณอะไร มีรายละเอียดอะไรบ้าง และจะให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร”

อย่างไรก็ตามช่วงรอยต่อของงบประมาณคือ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งอาจทำให้การใช้งบประมาณล่าช้าออกไปนั้น สำนักงบประมาณได้เตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน  โดยสามารถใช้ได้ก่อนในช่วง 6 เดือน แต่จะไม่สามารถใช้ในโครงการลงทุนได้  จะใช้ได้เฉพาะงบรายจ่ายประจำและงบผูกพันบางรายการ และหากเลยช่วงเวลา 6 เดือนไป ก็ขยายได้ตามข้อเท็จจริงตามที่เกิดขึ้น

ด้านนางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะใช้เวลาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน คาดว่าจะประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ได้ช่วงเดือนเมษายน 2567 ซึ่งในเรื่องของเบิกจ่ายงบลงทุนนั้น สามารถใช้ได้เฉพาะรายจ่ายลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งส่วนราชการสามารถดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นโครงการใหม่ ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

ทั้งนี้งกรมบัญชีกลางคาดการณ์ว่า การใช้งบประมาณไปพลางก่อนจะสามารถใช้ได้ถึง 2 ไตรมาสของปีงบ 67 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566-31 มีนาคม 2567 ฉะนั้นปีหน้าโครงการต่อเนื่องจะสามารถเดินหน้าได้เลย แต่โครงการใหม่จะเริ่มต้นได้ช้า ซึ่งคาดว่า จะมีผลกระทบกับการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในปีงบ 67

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ประกาศใช้แล้ว ต้องมีการเร่งรัดโครงการใหม่ออกมา เนื่องจากระยะเวลาในการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการใหม่หายไป 6 เดือน ฉะนั้น ช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 67 ต้องเร่งรัดโครงการขนาดเล็กให้มีการเบิกจ่ายได้เร็ว แต่บางโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอาคาร หรือโครงการขนาดใหญ่ อาจจะดำเนินการได้เพียงทำสัญญา

“กรมยังวางเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบ 67 ไว้ที่ 75%ของวงเงินงบประมาณ แต่คาดว่าปีงบ 67 อาจจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ใกล้เคียง 70%  ส่วนที่เหลือเราคงไปใช้กำลังจากคลังจังหวัด และกรมบัญชีกลางที่จะไปเร่งให้หน่วยงานทำสัญญา และเบิกจ่าย โดยส่วนใหญ่โครงการใหม่ที่จะให้หน่วยงานสามารถเบิกจ่ายได้เร็วจะเป็นโครงการขนาดเล็ก ระยะเวลา 1 ปี ไม่ใช่รายการที่มีขนาดใหญ่มาก เพื่อเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน และสนับสนุนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงระบบเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบ 67 หากเทียบกับปีงบ 66 จะน้อยกว่าแน่นอน เนื่องจากอุปสรรคในการเริ่มต้นปีงบประมาณ 67 เริ่มได้ช้ากว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตามก่อนที่พ.ร.บ.งบประมาณประกาศใช้ กรมบัญชีกลางจะมีการเตรียมขั้นตอนการเบิกจ่าย เพื่อให้ขั้นตอนดำเนินการได้เร็วขึ้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,904 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566