ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 13ก.ค. “แข็งค่า” ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์

13 ก.ค. 2566 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 09:39 น.

ค่าเงินบาทและความผันผวนของค่าเงิน ไฮไลต์วันนี้ ลุ้นผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อาจเห็นโมเมนตัมการ "อ่อนค่าของเงินบาท"เพิ่มมากขึ้น หากความวุ่นวายการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้  13ก.ค. 2566 ที่ระดับ  34.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.91 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ก็เป็นไปตามมุมมองของเราที่คาดว่า เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยภายนอก อย่างทิศทางเงินดอลลาร์อาจไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากนัก

 โดยเงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัว sideway หรือย่อตัวลงได้บ้าง (ต้องระวัง หากตลาดปิดรับความเสี่ยง Risk-Off เงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นได้) ทำให้ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทและความผันผวนของค่าเงิน คือ ปัจจัยการเมืองไทย ซึ่งต้องรอลุ้นผลการโหวตเลือกนายกฯ ในวันนี้

 

โดยเราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจถูกชะลอได้และอาจเห็นโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเพิ่มมากขึ้น หากความวุ่นวายการเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ คุณพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรขาดเสียงสนับสนุนเกินกว่า 50 เสียง (เราให้โอกาสกรณีนี้มากที่สุด หรือเป็น Base case) ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงว่า ทางฝั่งพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตรอาจจะต้องปรับเปลี่ยนแคนดิเดต หรือ

 

สุดท้ายก็อาจเกิดการปรับรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยเรามองว่า ในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าลงทดสอบโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และมีโอกาสอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก หากสถานการณ์การเมืองส่อเค้ามีการชุมนุมประท้วงผลการโหวตเลือกนายกฯ

 

ทั้งนี้ หากคุณพิธา ขาดเสียงสนับสนุนไม่มาก เช่น 20 เสียง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์การเมืองมากนัก แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่อาจกดดันต่อเงินบาทได้บ้าง โดยเราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงเล็กน้อย กลับสู่โซน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

และในกรณีสุดท้าย หากผลการโหวตเลือกนายกฯ ราบรื่น และคุณพิธาได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนใหม่ (โอกาสเกิดน้อยที่สุด แทบเป็นไปไม่ได้ในมุมมองของเรา) ตลาดการเงินก็อาจเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ

 

และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ

 

 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่างชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ย

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนมิถุนายนชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.8% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น (Meta +3.7%, Nvidia +3.5%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.15% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.74%

 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พุ่งขึ้นกว่า +1.51% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +2.1%) และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American +4.3%) ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงอานิสงส์จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ที่ส่งผลดีต่อราคาแร่โลหะ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ (ASML +3.0%) หลังตลาดคาดหวังว่า เฟดอาจใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ย

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งลง ชัดเจน (ผู้เล่นในตลาดยังมองว่าเฟดมีโอกาส 94% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้) ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติมและช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.85%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 100.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 100.5-101.6 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 1,960-1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ซึ่งเราประเมินว่า คุณพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลและพรรคพันธมิตร อาจยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอ (376 เสียงขึ้นไป)

ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า คุณพิธา ยังต้องการเสียงสนับสนุนอีกเท่าไหร่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะกรณีที่ คุณพิธา ขาดเสียงสนับสนุน 50-60 เสียง ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยอาจยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงในระยะสั้น และอาจนำมาสู่การชุมนุมประท้วงในระยะนี้ได้

 

ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ (แม้ว่าอาจจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง) อาจทำให้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ตัดสินใจ “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 3.50% นอกจากนี้ ผู้เล่นตลาดอาจยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง

เนื่องจากยอดการส่งออก (Exports) เดือนมิถุนายน อาจหดตัวต่อเนื่องถึง -10%y/y นอกจากนี้ยอดการนำเข้า (Imports) ก็จะหดตัวราว -4.8% สะท้อนความต้องการในประเทศที่ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ตลาดคาดหวัง สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของจีน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 34.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอ่อนค่าลงตามการร่วงลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด และหนุนการคาดการณ์ว่าเฟดใกล้จะยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้น 3.0% YoY ในเดือนมิ.ย. (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.1% YoY และต่ำกว่า 4.0% YoY ในเดือนพ.ค.) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.8% YoY ในเดือนมิ.ย. (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 5.0% YoY และต่ำกว่า  5.3% YoY ในเดือนพ.ค.) อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนในระหว่างวัน เนื่องจากยังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ