หนี้ครัวเรือน : ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

09 ก.ค. 2566 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 15:43 น.
597

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยทยอยปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากที่เคยสูงถึง 95.5% ต่อจีดีพี ช่วงการระบาดโควิดขๅต แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะวางใจ เหตุตัวเลขหนี้ยังค้างสูงถึง 15.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นความเปราะบางเศรษฐกิจไทย  

แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยจะทยอยปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยเร่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โ ดยขึ้นไปสูงสุดที่ 95.5% ในไตรมาส 1/2564  แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะวางใจได้ เพราะหากดูจากตัวเลขแล้วยังค้างสูงถึง 15.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยังไม่สะท้อนภาพของหนี้ครัวเรือนอย่างแท้จริง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงปรับปรุงข้อมูลของหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยนับรวมหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นหนี้จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) หนี้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) หนี้พิโกไฟแนนซ์ และหนี้จากสหกรณ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 

หนี้ครัวเรือน : ระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย

การนับรวมหนี้ก้อนใหม่ แต่เป็นหนี้เดิมที่ทีอยู่แล้วเข้ามา จะทำให้เห็นภาระหนี้ของครัวเรือนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการกู้ยืมเพื่อการศึกษาและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ที่น่าจะมีรายได้ไม่สูงหรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ

ส่งผลให้ยอดหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 ขยับขึ้นประมาณ 7.66 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนตามข้อมูลชุดเดิมที่ 15.19 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี สูงขึ้นเมื่อเทียบกับข้อมูลชุดเดิมที่ 86.3% ต่อจีดีพี 

 

“หนี้ครัวเรือน” ถือเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นตัวรั้งในการออกมาตรการต่างๆของทางการที่จะไม่สัมฤทธิ์ผลได้เท่าที่ควร ทำให้ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและผลักดันมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  1. การปรับปรุงฐานข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศให้มีความครอบคลุมมากขึ้น
  2. การเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการกำกับดูแลไปยังธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง
  3. การหารือกับสถาบันการเงินผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์เพื่อให้แนวทางความช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้มากที่สุด

ล่าสุด มีการกำหนดกลุ่มลูกหนี้เป้าหมาย 4 กลุ่มที่ต้องเร่งช่วยเหลือพร้อมๆ กับการเตรียมวางกรอบหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น 

  • เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหาจนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้
  • กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและช่วยให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง
  • มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และลูกหนี้มีเงินเหลือพอ ดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR)

สำหรับแผนการนำมาใช้ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP ส่วนเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพราะธปท.ไม่ได้กำกับดูแลหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ยังมีหนี้ครัวเรือนอีก 27% ที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สหกรณ์ และสินเชื่อเพื่อการศึกษา 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ตามฐานข้อมูลชุดใหม่ จะชะลอลงมาที่กรอบ 88.5-91.0% ต่อจีดีพี จากระดับ 91.4% ต่อจีดีพีในปี 2565 ท่ามกลางความเปราะบางของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจทำให้หนี้ยังโตช้ากว่าเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ยังคงสูงกว่าระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ยั่งยืนต้องเฝ้าระวัง และทำให้คงเห็นทางการในหลายภาคส่วนเร่งผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนออกมาอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,903 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566