“หอการค้า” หวั่นงบประมาณฐานศูนย์ กระทบเม็ดเงินลงทุน

10 มิ.ย. 2566 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2566 | 13:03 น.

นักวิชาการชำแหละนโยบาย งบประมาณฐานศูนย์ ชี้ทำได้ยาก ไม่เหมาะกับระบบบริหารงบประมาณแผ่นดิน ทำแค่บริหารบริษัท หอการค้าหารือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” 31 พ.ค.นี้หวั่นงบล่าช้า ก่อสร้างชี้โปรเจ็กต์ใหญ่ต้องมีงบผูกพัน

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตยเปิดเผยว่า การทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ที่พรรคก้าวไกลกำหนดเอาไว้เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะทำหลังจากได้เป็นรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และไม่น่าจะเหมาะสมกับการเอามาใช้ในการบริหารงบประมาณแผ่นดินในระบบราชการ เพราะรูปแบบนี้จะเหมาะสมกับการเอาไปใช้กับการบริหารงานของบริษัทเอกชนมากกว่า

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

ทั้งนี้ถ้าจะเอามาใช้ในระบบราชการต้องปรับเปลี่ยนขั้นตอน กระบวนการ และวิธีการต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องของการแก้กฎหมาย กฎระเบียบอีกจำนวนมาก และถ้าทำจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน เนื่องจากระบบราชการต้องมีการวางแผนการทำโครงการ และการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้โครงการต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง แต่การจะนำมาปรับใช้โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดต้นทุนให้มากที่สุดนั้น เรื่องนี้คงต้องดูอย่างรอบคอบว่าระบบที่มีอยู่สามารถทำได้จริง และมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

ศ.ดร.อรรถกฤตกล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดของการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ สาระสำคัญของเรื่องคือ เน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก โดยต้องมีการปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนโครงการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งเหมาะสำหรับการบริหารงานในรูปแบบของบริษัทเอกชน และที่สำคัญการหวังว่าจะหาทางลดต้นทุนนั้น ถึงแม้จะลดลงไปได้ แต่ก็ไม่ได้การันตีได้ว่าเมื่อลดไปแล้วจะสามารถลดการทุจริตลงไปด้วยหรือไม่

“ในต่างประเทศมีการนำรูปแบบการทำงบประมาณฐานศูนย์มาใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ และบางแห่งก็ไม่ประสบคงวามสำเร็จ แต่หากไทยจะปรับมาใช้ระบบงบประมาณแบบนี้ จะต้องใช้ข้อมูลทางด้านเอกสารจำนวนมากในการทำแต่ละเรื่อง และต้องมีกฎหมายรองรับ การจะตัดทันที หรือเปลี่ยนโครงการ ต้องมีเหตุผลเยอะมากว่าทำไมถึงปรับ แล้วต้องรายงานอธิบดี ปลัดกระทรวง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางด้วย ซึ่งจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากแน่”

ขณะเดียวกันการดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นการเพิ่มงานให้กับราชการ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะถ้ามีการปรับโครงการ หรือเปลี่ยนโครงการ ก็ไม่สามารถทำได้ทันทีตามกฎหมาย เพราะตามระเบียบได้กำหนดไว้ว่า หากจะเปลี่ยนแปลงโครงการต้องระบุวัน เวลาการปรับเปลี่ยนเอาไว้ล่วงหน้า โดยมีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำได้ 

ศ.ดร.อรรถกฤต เสนอแนะว่า ก่อนจะคิดจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เพื่อหวังว่าจะลดต้นทุนให้กับภาครัฐสิ่งที่ควรทำมากกว่า คือการปรับปรุงเรื่องของการประกาศราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันจะมีผลดีกว่า แถมยังเป็นประโยชน์มากกว่าด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ต้องหาแนวทางการประกาศราคากลางให้เหมาะสมเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นจริงๆ 

“เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดของการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์แล้ว มองมุมไหนก็ยังไม่เหมาะกับประเทศไทยเท่าไหร่ และอยากให้กลับมามองย้อนดูถึงการคิดเรื่องของราคากลาง ของกรมบัญชีกลาง ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่แท้จริงของปีต่อไปจะดีกว่าไหม และเปลี่ยนบ่อย ๆ โดยต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาดูเป็นการเฉพาะด้วย”ศ.ดร.อรรถกฤตกล่าว 

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่หอการค้าฯหยิบยกมาหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและคณะในวันที่ 31 พฤษภาคมคือ แนวทางการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ แม้ภาคเอกชนเห็นด้วย แต่ยอมรับว่ายังกังวลเรื่องกรอบระยะเวลาว่าจะเกิดความล่าช้าและจะจัดทำได้ทันในปีนี้หรือไม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินที่ควรจะกระจายลงสู่แผนงานโครงการต่างๆของภาครัฐทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะที่นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า นโยบายงบประมาณฐานศูนย์ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องพิจารณาว่า งบประมาณใดที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น ซึ่งตามหลักการควรพิจารณาถึงงบประมาณของแต่ละโครงการที่มีราคาสูงหรือตํ่าด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะโครงการที่มีงบประมาณสูงหรือโครงการที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นเพียงอย่างเดียว 

“หอการค้า” หวั่นงบประมาณฐานศูนย์ กระทบเม็ดเงินลงทุน

“บางโครงการตั้งงบประมาณตํ่าก็ควรพิจารณาด้วยว่าตํ่าเกินไปหรือไม่ เพราะหลายครั้งงานที่ล่าช้าหรือมีการทิ้งงานมาจากงบประมาณที่ตํ่าเกินไป ซึ่งไม่ค่อยมีใครนำประเด็นมาพูดมากนัก ส่วนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนนั้น ต้องรอดูรายละเอียดของนโยบายให้ชัดเจนก่อน ซึ่งหากมีการดำเนินการแบบตรงไปตรงมา เปิดเผย โปร่งใส และพิจารณาให้ครบรอบด้าน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน” 

ส่วนกรณีโครงการขนาดใหญ่มองว่าไม่สามารถตั้งงบประมาณปีเดียวได้เพราะโครงการขนาดใหญ่ มีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณแบบผูกพันเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลางานของแต่ละโครงการ นั้นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นงานที่มีความซับซ้อน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเกิน 1 ปี หรือแม้แต่งานขนาดเล็กบางโครงการหากมีความซับซ้อนในการส่งมอบพื้นที่ของการทำงาน ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ แบบผูกพันที่เกิน 1 ปีอยู่แล้ว 

ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กล่าวว่า งบประมาณฐานศูนย์ถือเป็นวิธีการบริหารงบประมาณรูปแบบหนึ่งที่ต้องลองดำเนินการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของงบประมาณ ซึ่งการบริหารงบประมาณไม่ได้หมายความว่า จะตัดงบประมาณอย่างเดียว อาจจะเพิ่มงบประมาณได้ หากโครงการนั้นมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์จริง 

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

“หลักการคิดดีอยู่แล้ว ก็ขึ้นกับภาคส่วนที่จะนำมาปฏิบัติว่า จะทำได้ตามที่ความตั้งใจของผู้นำวิธีการมาใช้หรือไม่ ส่วนในภาพรวมนั้น ผมมองว่า เป็นแนวคิดที่ดี ถ้าผู้ปฏิบัติ (หมายถึงส่วนงานต่างๆที่จะบริหารงบประมาณ) สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีได้ คาดว่าการจะปรับเปลี่ยนก็คงต้องใช้เวลาบ้างพอสมควรสำหรับงบผูกพันเก่าๆที่จะต้องอัพเดตลงในรายละเอียดกันทุกๆครั้งในการตั้งงบประมานใหม่ในแต่ละปี” 

ขณะเดียวกันการตั้งงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ โดยใช้งบปีเดียวนั้นสามารถดำเนินการได้ ซึ่งหน่วยงานเจ้าของงบประมาณคงต้องทำงานกันมากขึ้น เพื่อประเมินผลงานและตั้งงบประมาณใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน STEC รับงานจากภาครัฐประมาณ 40% และมักเป็นโครงการขนาดตั้งแต่กลางๆจนถึงขนาดใหญ่ ซึ่งโครงการฯจะไม่แล้วเสร็จใน 1 ปี ทำให้ยังใช้วิธีการตั้งงบประมาณแบบผูกพัน โดยเป็นการตั้งงบประมาณตามสถานะของแต่ละโครงการและข้อสัญญาที่ผูกพันกัน

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,892 วันที่ 1 - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566