งบประมาณฐานศูนย์ ชี้ใช้เวลาจัดสรรงบนาน

28 พ.ค. 2566 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 17:30 น.

สำนักงบประมาณชี้ การจัดทำ “งบประมาณฐานศูนย์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยทำแล้วในอดีต ปัจจุบันยังใช้สำหรับจัดสรรรายจ่ายงบลงทุน ยันไม่กระทบรายจ่ายประจำ-เงินเดือนข้าราชการ จ่อถก “คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์”

หนึ่งในข้อตกลงที่มีการลงนามในข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลกับ 7 พรรคร่วมคือ การจัดทํางบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดทำงบประมาณที่ต่างจากวิธีการที่ทำในปัจจุบัน โดยจะพิจารณาตั้งแต่บาทแรกของการตั้งงบประมาณของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน ซึ่งหน่วยราชการต้องชี้แจงความมีเหตุผลของงบประมาณที่เคยได้รับในอดีตว่า มีความจำเป็นอย่างไรจึงจะได้งบในอนาคต ไม่ใช่ว่าเคยได้แล้วต้องได้ต่อไป

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้โครงสร้างจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์และเน้นผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายงบประมาณเป็นหลัก ส่วนการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์นั้น เคยมีการจัดทำงบประมาณดังกล่าวมาแล้วในอดีต ในการเริ่มต้นการจัดทำงบประมาณครั้งแรกๆ ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณแบบไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนงบประมาณของปีก่อน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

“ยกตัวอย่าง เช่น ปีที่แล้วหน่วยงานราชการเคยได้รับการจัดสรรงบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในโครงสร้างการจัดทำงบประมาณเดิมจะมีการเพิ่มวงเงินงบประมาณใหม่ให้เป็น 1,100-1,200 ล้านบาท แต่ในส่วนของงบประมาณฐานศูนย์ จะไม่ได้อ้างอิงเช่นนั้น เป็นการเปลี่ยนสมดุลใหม่เท่ากับศูนย์เลย เป็นการจัดทำงบที่ไม่ได้อ้างอิงจากการจัดงบในอดีตเป็นหลัก แล้วมาปรับเพิ่มงบเข้าไปในแต่ละปี”นายเฉลิมพลกล่าว

ทั้งนี้ ในจัดทำงบประมาณฐานศูนย์นั้น หากเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายจากตามสิทธิ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและรายจ่ายประจำที่มีรายจ่ายตามกฎหมาย เช่น เงินเดือนข้าราชการ ค่าเช่า และอื่นๆ รายจ่ายเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ตัดงบออกไม่ได้ แต่ในเรื่องรายจ่ายลงทุน รายจ่ายสิ่งก่อสร้าง ส่วนนี้สามารถพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดลงได้ ซึ่งปัจจุบันการจัดทำงบประมาณก็มีการใช้หลักการพิจารณาจัดสรรงบรายจ่ายการลงทุนและสิ่งก่อสร้าง ในรูปแบบงบประมาณฐานศูนย์เช่นเดียวกัน

โครงสร้างงบประมาณ 5 ปีย้อนหลัง

“การจัดสรรงบรายจ่ายลงทุน เราก็คิดแบบฐานศูนย์อยู่แล้ว ไม่ได้มีการคำนึงว่า ปีที่แล้วได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณเท่าไหร่ และปีนี้จะต้องได้รับมากขึ้น ซึ่งงบประมาณของเรามีจำกัด เราจึงใช้วิธีการคิดแบบฐานศูนย์ โดยต้องมีการคิดให้ละเอียดและรอบคอบในการจัดสรรงบประมาณ”

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงาน และสังกัดกระทรวงต่างๆ หากใช้รูปแบบการจัดสรรงบประมาณแบบฐานศูนย์ จะต้องมีการหารือกันใหม่ถึงการแบ่งสัดส่วนงบประมาณหรือไม่นั้น ในส่วนนี้สำนักงบประมาณกำหนดไม่ได้ว่า แต่ละกระทรวงจะต้องมีการใช้งบประมาณสัดส่วนเท่าใด โดยจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณ โดยใช้แนวทางแบบฐานศูนย์ แล้วให้หน่วยงานไปทบทวนดูว่า แต่ละหน่วยงานจะต้องทำอย่างไร และมีแนวคิดอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงบประมาณก็จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์งบประมาณออกมา เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนกันกับทุกหน่วยรับงบประมาณ

“ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงข้อดีและข้อเสียของการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เคยทำมาแล้ว แต่ยํ้าว่าหากจะต้องดำเนินการจัดทำงบประมาณดังกล่าว จะต้องมีความละเอียดและรอบคอบ เพราะปัจจุบันกรอบวงเงินงบประมาณมีวงเงินสูง การใช้ฐานศูนย์ ก็คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการจัดทำงบประมาณ”

นายเฉลิมพลกล่าวต่อว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความชัดเจนแล้ว จะมีการเรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาหารือร่วมกันอีกครั้งถึงรายละเอียดการจัดทำงบประมาณ อย่างไรก็ดีขณะนี้สำนักงบประมาณยังดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณก็ได้มีการประมาณการการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คาดว่า จะมีความล่าช้าออกไป 5-6 เดือน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่อาจจะยังไม่ได้รับรายละเอียดพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567  จึงคาดว่า รัฐบาลใหม่อาจจะเริ่มคิดการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพรรครัฐบาล

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หากมีการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์นั้น ไม่ได้มีผลต่อแผนการบริการหนี้ของรัฐบาล เนื่องจากแผนการชำระหนี้ของรัฐบาลจะต้องจ่ายตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถวางกรอบตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ โดยการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์จะมีการพิจารณาตามการทำงานของหน่วยงานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน ซึ่งหากดำเนินการส่วนนี้ต้องมีการพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ระบุว่า การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือ การสะท้อนการใช้งบประมาณไปในอนาคต แต่ข้อเสียคือ เป็นระบบการจัดทำงบประมาณที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีการ เตรียมความพร้อมกับทุกหน่วยงานราชการมาก เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ผูกพันไปทุกภาคส่วนส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษา สถานพยาบาล ซึ่งปีงบประมาณ 2567 ได้จัดทำไปแล้วเรียบร้อย คาดว่าจะเริ่มทำได้ในปีงบ ประมาณปี 2568 หรือปี 2569

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,890 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2566