แบกหลังแอ่น แบงก์เหลือส่วนต่างขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.15%

24 เม.ย. 2566 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 18:05 น.

กูรูชี้แบงก์จับสัญญาณกนง.รอบ 31 พ.ค. ก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยตามอีกระลอก ปิดส่วนต่างดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบ เผยที่ผ่านมาทั้ง แบงก์รัฐ-แบงก์ใหญ่ ขยับตระกูล M ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย แนวโน้มยังปรับได้อีก 0.15%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% อย่างต่อเนื่อง 5 ครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.50% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม 2566 แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงที่ 2.83% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังติดลบ 1.08% ซึ่งเป็นตัวกัดกร่อนเงินออมของคนไทย

แบกหลังแอ่น แบงก์เหลือส่วนต่างขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.15%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยจะติดลบน้อยกว่ากลุ่มประเทศตะวันตก อย่างอังกฤษ ที่ติดลบถึง 6.15% ออสเตรเลียลบ 4.2% แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังติดลบมากกว่าประเทศในกลุ่มเอเชียอย่างมาเลเซีย ติดลบ 0.95% เกาหลีใต้ติดลบ 0.70% มีเพียงจีนที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก 2.95% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐตามทันอัตราเงินเฟ้อแล้ว

  • กนง.เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และประธานกนง.ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาที่สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างกนง.และ รมว.คลัง กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3%

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

นายเศรษฐพุฒิระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.65-มี.ค.66)อยู่ที่ 5.86% จากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นสำคัญ ทั้งราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและราคาอาหารสด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์(demand-pull inflation)ปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตามกนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567) จะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายและเห็นว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความเหมาะสมในบริบทปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งกนง.พร้อมปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นดอกเบี้ย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

  • สภาพคล่องในระบบสูง

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KR) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระบบธนาคารพาณิชย์นั้นพบว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะเน้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12เดือน  24เดือน มีบ้างบางแห่งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออกทรัพย์ แต่ธนาคารยังคำนึงถึงความสามารถในการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่อง(เดือนก.พ.อยู่ที่ 5.58ล้านล้านบาท)ที่ยังมีค่อนข้างสูง จึงยังไม่จำเป็นแข่งขันระดมเงินฝาก

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด(KR)

ทั้งนี้หากพิจารณาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24เดือนเฉลี่ยในอัตรา 1.10% เช่น

  • ธนาคารกรุงเทพปรับขึ้น 1.10% จากเดิม 0.50%เป็น 1.60%
  • ธนาคารกรุงไทยปรับขึ้น 1.40%  จากเดิม 0.45%เป็น 1.85%  
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับขึ้น 1.30% จาก 0.45% เป็น 1.75%
  • ธนาคารกสิกรไทยปรับขึ้น 1.30% จาก 0.45% เป็น 1.65-1.75%  
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับขึ้น 1.30%  จาก 0.45% เป็น 1.75%
  • ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตปรับขึ้น 0.8%จาก 0.60% เป็น 1.40%

ทั้งนี้พบว่าไตรมาส1 ปี2566 ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากหน้ากระดาน ขณะเดียวกันออกแคมเปญเงินฝากพิเศษใหม่จำนวน  61 แคมเปญ และเงินฝากครบกำหนด 25แคมเปญ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและรักษาฐานลูกค้า ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมรอบล่าสุด ธนาคารในระบบปรับขึ้นดอกเบี้ยใกล้อัตรา 0.25% จากก่อนหน้าธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ตํ่ากว่ากนง.

“แบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามกนง. มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบเล็กน้อยที่ 1.08% เพราะสภาพคล่องเยอะมากทำให้เงินฝากอยู่ในระดับตํ่า แม้แบงก์จะขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ โดยไม่จำเป็นแข่งขันระดมเงินฝาก แต่ปรับดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับดอกบี้ยนโยบาย หรืออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับขึ้นไปตามเฟดก่อนหน้าแล้ว เพราะผู้ลงทุน ผู้ฝากเป็นคนเดียวกัน หากดอกเบี้ยแบงก์ไม่ขยับ”นายเชาว์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับขึ้นยังไม่สร้างภาระกับผู้กู้หรือลูกค้า ขณะเดียวที่ด้านเงินฝากเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะยาว ก็ให้สอดคล้องกับราคาตลาดเงิน ผลตอบแทนพันธบัตรไม่ห่างกันจนคนไม่ฝากเงินกับธนาคาร ทำให้ธนาคารพิจารณาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยชั่งนํ้าหนักตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดด้วย

  • KTBคาดดอกเบี้ยขึ้นอีก0.15%

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า การส่งผ่านดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝากถือว่ามีความสอดคล้องกัน โดยแนวโน้มเชื่อว่า ธนาคารในระบบจะสามารถส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่กนง.จะพิจารณาเห็นสมควร หากกนง.ยังคงปรับขึ้นอีกในอัตรา 0.50-0.75% โดยไม่ยุติการปรับดอกเบี้ยที่อัตรา 2.00% ธนาคารในระบบสามารถส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยได้อีกประมาณ 60% หรือราว 0.15%

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

  • ดอกเบี้ยสิ้นปีแตะ2.00%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน  ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอา-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า การส่งผ่านหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะยังมีประเด็นด้านเครดิต ทำให้ธนาคารส่วนใหญ่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและใหญ่ แต่ลูกค้ารายย่อยยังไม่ปรับเท่าที่ควรจะเป็น อาจเพราะกลัวการผิดนำชำระ(Default)หรือย้ายไปที่อื่น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน  ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอา-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) จำกัด

ดังนั้นแนวโน้มการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยระดับบน มีโอกาสยากขึ้น เพราะดีมานด์ผู้กู้ยังไม่ดีมาก ซึ่งหากสิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ 2.00% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2.6% อาจจะสามารถปิดช่องว่างหรือส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงได้ 

ในแง่ดอกเบี้ยเงินฝากมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ขึ้นกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคา โดยเฉพาะในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน(CASA) ส่วนหนึ่งผู้ฝากเงินยังเก็บเงินอยู่ใน CASA ทำให้การส่งผ่านได้จำกัด ดังนั้นในแง่ของต้นทุนจึงไม่กระทบจนเป็นภาระทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจ

  • SCBT ชี้เงินเฟ้อทั้งปี2.1%

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)หรือ SCBTกล่าวว่า ปีนี้ความไม่แน่นอนและผันผวนจากต่างประเทศที่ยังคงอยู่อีก 3-6 เดือน ทั้งไตรมาส 2-3 จึงมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับสูงที่สุดเป็น 5.25%ในการประชุมวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายและอัตราว่างงานต่ำ และเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ 0.25% ลงสู่ 5.00% และปีหน้าเฟดมีโอกาสจะลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งๆละ 0.25% เป็นอัตรา 4.25%

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)

ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยคาดว่าทั้งปี จะอยู่ที่ 2.1% โดยจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงถึงไตรมาส 3  ปีนี้ ซึ่งจะเป็นระดับต่ำสุดที่ 1.2% หลังจากไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.0% และไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.7% และดีมานด์จากภาคท่องเที่ยวจะกลับมาดีขึ้นในปลายปี ทำให้ไตรมาส 4 ปีนี้เงินเฟ้อจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.6%

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่ากนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จากระดับ 1.75% เป็น 2.00%ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จาก 3 เหตุผลคือ 1.เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐ 2.อัตราเงินเฟ้อที่จะกลับมา เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 และ 3.สัญญาณจากธปท.ที่รอดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรืออีกนัยคือ ธปท.อยากให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ติดลบ

“ปัจจัยเหล่านี้เอื้อให้กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นศูนย์ หรือกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งส่วนตัวยังมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถปรับขึ้นได้ถึง 2.25% หรือไม่”นายทิมกล่าว

  • เอกชนโอดดอกเบี้ยพุ่ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปกล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามกนง.และส่งผลผ่านต้นทุนดอกเบี้ยมายังภาคธุรกิจและผู้ประกอบการแล้ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากคือ ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่พึ่งเงินกู้จากสถาบันการเงินที่กำลังจะฟื้นตัวจากโควิด แต่มาถูกซ้ำเติมจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

นอกจากนั้น ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเช่น พืช ผัก ผลไม้ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากที่ธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แล้ง ร้อนและฝนทิ้งช่วงอยู่แล้ว ทำให้ผลผลิตหรือวัตถุดิบในการผลิตเสียหาย หรือไม่ได้จำนวนเท่าที่ควรจะเป็น รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

“เงินกู้และดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่แตกต่างกัน ในรายที่มีเงินทุนตัวเองไม่มีปัญหา ส่วนในรายที่กู้แบงก์มาลงทุนก็จะแบกภาระเพิ่ม หากธุรกิจไม่ดี ไม่ฟื้นตัวอาจกลายเป็นเอ็นพีแอลในที่สุด"นายวิศิษฐ์กล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2566