แบงก์กรุงเทพ โชว์กำไรไตรมาส 1/66 ทะลุ 10,129 ล้านโตพุ่ง 42.30%

20 เม.ย. 2566 | 19:01 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2566 | 19:13 น.

BBLกำไรไตรมาส 1/66 รวม 10,129.29 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,118.06 เพิ่มขึ้น 3,011.23 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 42.30% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่2.84%

ธนาคารกรุงเทพ(BBL)และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อน 

จากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สุทธิกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมที่ร้อยละ 0.46 ต่อปี และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.84  

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ส่วนใหญ่มาจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงเป็นร้อยละ 46.8  ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,474 ล้านบาท โดยพิจารณาถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,640,090 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 1.6% จากสิ้นปี 2565 ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ  

สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.1 
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วน
ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 265.1


ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 3,205,989 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ
สิ้นปี 2565 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 82.3 


 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง
ของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.2 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่
สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด