รัฐวิสาหกิจส่งเงินเข้ารัฐพุ่ง 7.9 หมื่นล้าน เปิด 10 อันดับแรก

10 เม.ย. 2566 | 16:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2566 | 16:57 น.
749

สคร. เผยรัฐวิสาหกิจส่งเงินเข้ารัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2566 พุ่ง 79,429 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของเป้าหมายทั้งปี ชี้สำนักงานสลากฯ แชมป์อันดับหนึ่งส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 สคร. มีเป้าหมายในการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 (เงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ) จำนวน 149,600 ล้านบาท

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 79,429 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของเป้าหมายการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการสะสมจำนวน 14,809 ล้านบาท

 

 

“เงินนำส่งรายได้แผ่นดินส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น”

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2566 มีดังนี้

  1. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 19,115 ล้านบาท
  2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 18,979 ล้านบาท
  3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 8,637 ล้านบาท
  4. ธนาคารออมสิน 8,055 ล้านบาท
  5. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 7,507 ล้านบาท
  6. การไฟฟ้านครหลวง 3,804 ล้านบาท
  7. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 2,731 ล้านบาท
  8. การท่าเรือแห่งประเทศไทย 2,577 ล้านบาท
  9. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2,011 ล้านบาท
  10. การประปานครหลวง 1,204 ล้านบาท
  11. อื่นๆ   4,809 ล้านบาท

รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2566

สำหรับปีงบประมาณ 2566 เป็นการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากผลประกอบการในปี 2565 ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ สะสมสูงกว่าประมาณการสะสม เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงกว่าที่ประมาณการไว้ และรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งเงินรายได้แผ่นดินโดยเป็นรายการค้างนำส่งจากปีก่อนซึ่งไม่ได้ประมาณการไว้ในปีงบประมาณ 2566

อย่างไรก็ดี สคร. จะกำกับติดตามการนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาผลประกอบการ มาตรการของภาครัฐ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินฯ เป็นกลไกในการช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังต่อไป