ธ.ก.ส.ลุยปั้นแอปพลิเคชั่นขายสินค้าเกษตร สร้างรายได้เกษตรกร

07 เม.ย. 2566 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2566 | 16:58 น.

ธ.ก.ส.ลุยปั้นแอปพลิเคชั่นเชื่อมโยงสินค้าเกษตร ทำการตลาดให้เกษตรกร หนุนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมดึงเทคโนโลยีมาใช้จัดการข้อมูล

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.มีนโยบายเพิ่มบทบาทของธนาคารให้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการทำการตลาดให้กับเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการจัดทำแอปพลิเคชั่น เชื่อมโยงการนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดีมาจำหน่ายตรงให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

 

“ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่าสินค้าคุณภาพดี มีไว้สำหรับส่งออก แต่คนไทยไม่ได้กิน ดังนั้น ธ.ก.ส.ตั้งใจว่าจะนำสินค้ากลุ่มนี้เข้ามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคด้วย และอาจจำหน่ายเป็นรายชิ้นไม่ได้จำหน่ายเป็นกิโลกรัมเหมือนที่ผ่านมา เช่น กุ้งตัวใหญ่ อาจจะจำหน่ายเป็นตัว แทนการจำหน่ายเป็นกิโลกรัม วิธีนี้จะช่วยให้แก้ปัญหาราคาตกต่ำและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลดีต่อธนาคาร ทำให้ลูกค้ามีความเข้มแข็ง"

 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังมีข้อมูลเกษตรกรรวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญของภาคการเกษตร และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล จะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้รู้ว่าสินค้าเกษตรชนิดนี้ ใครผลิตอยู่ที่ไหน มีปริมาณเท่าไร ผลผลิตมีมากหรือน้อยในช่วงไหน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด  

"ประโยชน์จากฐานข้อมูล จะทำให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ"

ทั้งนี้ ในการพัฒนายังจำเป็นต้องเชื่อมโยงองค์ความรู้ใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม  โดย ธ.ก.ส. จะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร SMAEs Agri Tech และ Startup โดยอาศัยทักษะของกลุ่มคนที่ความเชี่ยวชาญใน     ด้านการผลิต การออกแบบ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม