ธ.ก.ส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก สูงสุด 0.60% เริ่ม 1 เม.ย.

30 มี.ค. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 10:02 น.

ธ.ก.ส. ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยยกแผง ชี้เงินฝาก ขึ้นสูงสุด 0.60%ต่อปี ส่วนเงินกู้ทุกประเภท ปรับขึ้น 0.25%ต่อปี เริ่ม 1 เม.ย. 66 ตามมติ กนง.ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็น 1.75%ต่อปี

ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญนั้น 

 

ล่าสุด นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ร้อยละ 0.05 - 0.60 ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ฝากได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ขณะเดียวกัน ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 

  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จากร้อยละ 6.625 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 6.875  
  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) จากร้อยละ 5.125 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 5.375 
  • อัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จากร้อยละ 6.50 ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 6.750 

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแบ่งเบาและลดภาระของเกษตรกร ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อในโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติ เช่น 

  • สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 
  • สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง 
  • สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินแบบครบวงจร ประกอบด้วย 

  • มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 
  • มาตรการฟื้นฟูอาชีพ 
  • มาตรการจ่ายดอกตัดต้น 
  • มาตรการจ่ายต้นปรับงวด เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ 

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มีการให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งในและนอกระบบการสนับสนุนให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ผ่านแนวทาง  มีน้อยจ่ายน้อย มีมากจ่ายมาก พร้อมสร้างแรงจูงใจโดยคืนหรือลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ชำระหนี้เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรลูกค้ามีกำลังใจในการแก้ไขปัญหาหนี้ตนเอง