เช็คสิทธิประกันสังคม เกษียณแล้ว ได้เงิน"บำนาญชราภาพ"เท่าไร

20 พ.ค. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 10:10 น.
94.9 k

มนุษย์เงินเดือน เกษียณแล้ว สิทธิประโยชน์"เงินบำเหน็จ- เงินบำนาญชราภาพ"จะได้รับเงินคืนจากกองทุนประกันสังคมเท่าไร เช็คสูตรคำนวณที่นี่

 

ผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมได้ โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15ปี ) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต  ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ "เงินบำเหน็จ" รายละเอียดดังนี้ 

 

เงื่อนไข

กรณีบำเหน็จชราภาพ

  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

กรณีบำนาญชราภาพ

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

รูปแบบการรับเงินเกษียณคืนจากกองทุนประกันสังคม

1.รับบำเหน็จชราภาพ

  • ผู้จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม 
  • หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตน รวมกับส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

2.รับบำนาญชราภาพ

  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้าง (คำนวณจากเพดานไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 
  • กรณีที่จ่ายเกินกว่า 180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีกร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน

 

ตัวอย่างการคำนวณ

 

กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 15 ปี ( 180 เดือน)  อัตราบำนาญอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ดังนั้น ได้รับเงินบำนาญเดือนละ 20% x 15,000 = 3,000 บาท 

กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 20 ปี อัตราบำนาญจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อัตราบำนาญ 15 ปีแรก เท่ากับ 20% และ 5 ปีหลัง เท่ากับ 1.5% x 5 = 7.5% รวมอัตราบำนาญ 20 ปี เท่ากับ 20% + 7.5% = 27.5% ดังนั้น เงินบำนาญรายเดือน จะอยู่ที่ 15,000 x 27.5% = 4,125 บาทต่อเดือน 

 

เช็คสิทธิประกันสังคม เกษียณแล้ว ได้เงิน\"บำนาญชราภาพ\"เท่าไร

 

 

กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิต

  • กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ เสียชีวิตภายใน 5 ปี หรือ 60 เดือน  ทายาทผู้มีสิทธิ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน

เช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย ทายาทจะได้รับเงินบำนาญชราภาพที่เหลืออีก 40 เดือน (5,250 X 40 = 210,000 ) เป็นต้น

  • กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตายหากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน

ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบและทราบสิทธิที่จะได้รับแล้ว สามารถยื่นขอรับบำเหน็จชราภาพ หรือ บำนาญชราภาพ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด โดยใช้หลักฐานเอกสารประกอบการยื่นดังนี้

  • บัตรประชาชนตัวจริง
  • กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน ฯ ( สปส. 2-01)
  • แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่จะรับโอนเงิน
  • สำหรับผู้ประกันตนที่มีบัญชีพร้อมเพย์ที่ใช้เลขบัตรประชาชนผูกกับบัญชีออมทรัพย์ สามารถแจ้งขอรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ไป  พร้อมการยื่นคำร้องได้ โดยไม่ต้องใช้สำเนาสมุดบุญชีธนาคาร สำหรับบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์นั้นไม่สามารถใช้ได้ 

ช่องทางการตรวจสอบสิทธิและยอดเงินสมทบชราภาพ

กรณีไม่สะดวกเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 3 ช่องทาง

  • เว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th
  • แอปพลิเคชั่น SSO Connect สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง ระบบ iOSและ Android 
  • ไลน์ Line Official Account ของ สปส. @ssothai