เลขาฯสศช. ยันดอลลาร์ยังปึ๊ก แม้โลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นเริ่มโต

24 มี.ค. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 13:57 น.

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. มองเงินดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินหลักของโลกอีกยาว แม้ตอนนี้สกุลเงินท้องถิ่นจะเริ่มเติบโตมากขึ้น แนะตามติดสถานการณ์-บริหารความเสี่ยงใกล้ชิด

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในอนาคตเงินสกุลท้องถิ่นอาจเข้ามามีบทบาทในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างกันมากขึ้น แต่การจะเข้ามากลายมาเป็นสกุลเงินหลัก แทนดอลลาร์สหรัฐฯ เลยหรือไม่นั้น เชื่อว่า น่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร และต้องติดตามข้อมูลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่ามีสื่อต่างประเทศรายงานผลการหารือระหว่างจีนกับรัสเซีย โดยมีการแถลงว่าจะมีการใช้สกุลเงินหยวนในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น และจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี

กรณีดังกล่าว นักวิเคราะห์หลายสำนักก็ยังมีความเห็นต่างกันในเรื่องความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจจะถูกแทนที่ด้วยสกุลเงินอื่นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องว่ากันไปตามข้อมูล ตามความเชื่อ และตามความชอบของนักวิเคราะห์แต่ละสำนัก โดยต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

อย่างไรก็ดีส่วนตัวเห็นว่า ในอนาคตเงินสกุลท้องถิ่นน่าจะมีบทบาทในการซื้อสินค้าและบริการระหว่างกันมากขึ้นในอนาคต จากความก้าวหน้าของระบบการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัล หรือที่ตอนนี้เรียกง่าย ๆ ว่า Cross Border Payment หรือการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ใช้สามารถจะโอนเงิน หรือใช้จ่ายซื้อสินค้าในต่างประเทศ โดยจับคู่ระหว่างสกุลเงินท้องถิ่นตามข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ แทนการโอนเงินโดยใช้ระบบชำระเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม (Swift)

ปัจจุบันประเทศไทยกับสิงคโปร์สามารถโอนเงินระหว่างกันผ่านมือถือโดยเชื่อมระบบ Prompt Pay (ไทย) กับ Pay Now (สิงคโปร์) และต่อไปอาจจะใช้ระบบ QR Code ในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน ลักษณะเดียวกับการใช้จ่ายเงินซื้อของในประเทศไทย ถ้าระบบดังกล่าวขยายการใช้งานไปในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น และมีความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี ความจำเป็นที่ต้องใช้เงินสกุลหลักในการซื้อขายสินค้าและบริการจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง

นายดนุชา ยอมรับว่า ที่ผ่านมา เครื่องมือทางการเงิน (Financial Instruments) ต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในโลกใบนี้ และที่สำคัญคือการกำหนดราคาของสินค้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจุบันยังกำหนดราคาโดยอ้างอิงกับเงินสกุลหลักอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเงินสกุลหลักที่เราใช้อ้างอิงกันอยู่จะมีความสำคัญลดน้อยถอยลง

นั่นหมายถึงว่าเงินสกุลที่จะเข้ามาแทนที่ก็ต้องสามารถทำให้เกิดการยอมรับในการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งในการซื้อขาย สินค้าโภคภัณฑ์ และในการทำ financial instrument 

"ส่วนตัวคิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร แต่เราเองคงต้องเริ่มบริหารความเสี่ยงและติดตามในเรื่องพวกนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะทุกวันนี้โลกของเรา Dynamic มาก มีเรื่องให้ปวดตับ และสร้างความปั่นป่วนให้เกิดอาการใจหายใจคว่ำกันได้เรื่อย ๆ ดังนั้น เรื่องสกุลเงินที่จะมาทดแทนสกุลเงินหลักเราคงต้องทำใจนิ่ง ๆ ติดตามหาข้อมูล และวิเคราะห์แบบไร้อคติ เพื่อที่จะได้บริหารความเสี่ยงของเราได้ทันกับสถานการณ์" นายดนุชา กล่าว