คลังชี้รัฐบาลรักษาการออกมาตรการลดความผันผวน 2 แบงก์สหรัฐล้มได้

15 มี.ค. 2566 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2566 | 14:47 น.

รมว.คลังเผย 2 แบงก์สหรัฐล้ม ไม่กระทบแผนบริหารเงินกู้ไทย ชี้แม้รัฐบาลรักษาการยังออกมาตรการลดความผันผวนได้ แจงหุ้นร่วงเกิดขึ้นทั่วโลก ระบุหุ้นไทยเริ่มรีบาวด์กลับมา หลังสหรัฐสร้างความมั่นใจตลาดการเงิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีการปิดตัวลงของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank : SVB) และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในสหรัฐ ว่า คงไม่มีผลกระทบกับแผนเงินกู้ในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งที่จับตาดูอยู่ยังไม่มีอะไร และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังดูแลอยู่ เชื่อว่าจะมีการจำกัดผลกระทบส่วนนี้ให้น้อยลง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่หากเกิดความผันผวนขึ้นมาในช่วงที่รัฐบาลยุบสภาฯ จะสามารถใช้มาตรการเข้าไปดูแลในช่วงรักษาการได้หรือไม่ นายอาคม กล่าวว่า ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินมาตรการเพื่อดูแลประชาชน อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะไม่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหากไม่ได้เป็นประเทศที่ไปลงทุน และฝากเงินใน 2 แบงก์นั้นจำนวนมาก

 

“ส่วนถามว่าจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเช่นใดนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร และวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นแบงก์ที่ปิดตัวไปเป็นธนาคารในภูมิภาค แม้จะอยู่ที่อันดับ 16 ก็ตาม แต่หากขยายไปสู่แบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ก็อาจจะมีผลกระทบ”

ทั้งนี้ กรณีตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างจะแกว่งนั้น ไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทยที่เดียว ยังรวมถึงตลาดหุ้นทุกกระดานทั่วโลก สาเหตุที่สำคัญมาจากการปิดธนาคาร SVB และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งสร้างความตกใจไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี มาตรการดูแลของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกมา และสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐก็ประกาศคุ้มครองเงินฝาก 100% รวมทั้งมีมาตรการ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่มาอุ้มธนาคาร ประชาชนก็จะได้รับการชำระเงินคืน สร้างความมั่นใจให้กับตลาดเงินในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงต้นสัปดาห์นี้

“วันนี้จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มรีบาวด์ขึ้นมา แต่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ในการเข้าไปดูแลก่อนเกิดการปิดแบงก์ที่สหรัฐฯ เรียนว่าในส่วนของประเทศไทยได้หารือกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งไม่ได้มีธุรกรรมกับ 2 แบงก์ที่ปิดไป แต่ส่วนที่มีเป็นเรื่องคริปโทเคเรนซี่จาก 2 แบงก์ที่กำลังอยู่ระหว่างจับตาดู”

นายอาคม กล่าวว่า กรณีของซิกเนเจอร์ แบงก์นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องตลาดดิจิทัล ส่วน SVB จะเน้นไปถึงสตาร์ทอัพ และเทคโนโลยี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารปิดตัวลงนั้น เป็นผลมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ค่อนข้างที่จะเร็ว และแรง จึงอาจทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องหายไป จึงจำเป็นต้องถอนเงินในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว แต่ในส่วนของประเทศไทยเท่าที่ประเมินดูนั้น ยังไม่ได้มีผลกระทบอะไรจากกรณีดังกล่าว