บสย.พร้อมค้ำเอสเอ็มอี ชูธุรกิจ BCG ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปี

10 มี.ค. 2566 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2566 | 13:34 น.

บสย. พร้อมค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10 จัดล็อตแรก 3 หมื่นล้านบาท เติมทุนเอสเอ็มอี 6 โครงการ ชูธุรกิจ BCG ค่าธรรมเนียม 1.5% ฟรี 4 ปีแรก คาดช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ 1 แสนราย หนุนจ้างงาน 7 หมื่นอัตรา

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 10  วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานั้น 

 

ล่าสุด นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร  กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้เร่งดำเนินการเพื่อเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ โดยแจ้งไปยังสถาบันการเงินที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการในช่วงปลายเดือนมี.ค.66 ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้ 1 แสนราย สนับสนุนการจ้างงาน 7 หมื่นอัตรา และส่งเสริมเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร  กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ที่ บสย. พัฒนาขึ้น โดยจัดสรรวงเงินระยะแรกที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุม ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ดังนี้ 

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS10

1.สตาร์ท อัพ (Start up) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่ต้องการเงินทุนสำหรับเริ่มต้นกิจการใหม่ ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน วงเงินค้ำประกันระยะแรก 1,000 ล้านบาท

2. สมอลล์ บิซ (Small Biz) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ  วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน  200,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 3,000 ล้านบาท

3.สมาร์ท วัน  (Smart One)  สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ Covid-19 ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง  วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า  200,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 10,000 ล้านบาท

4.สมาร์ท บิซ  (Smart Biz) สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการยกระดับเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ หรือขยายธุรกิจรองรับการเติบโต  ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง  วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท  รวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า  200,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปี ฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 15,000 ล้านบาท

5.สมาร์ท กรีน (Smart Green) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนา เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  และ  BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท

6. สมาร์ท พลัส (Smart Plus) เป็นนวัตกรรมค้ำประกัน ใช้คู่กับโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน

ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท  อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ บสย. ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 สามารถค้ำประกันช่วยเอสเอ็มอีได้แล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการเป้าหมายว่าทั้งปี 2566 นี้ จะสามารถค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากสินเชื่อค้ำประกันรายสถาบัน 7-8 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ที่ครม.ขยายระยะเวลาให้ถึงเม.ย.67 อีก 6 หมื่นล้านบาท และที่เหลือมาจากโครงการ PGS10