เปิดฎีกา ถูกโจรหลอกดูดเงิน ปี59-64 ได้เงินคืนแค่ครึ่งเดียว รู้ยัง

03 มี.ค. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 10:10 น.
6.0 k

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้เสียหายถูกโจรหลอกกดลิงก์ ติดตั้งระบบควบคุมโทรศัพท์มือถือ ถูกดูดเงินจากบัญชี หากเกิดเหตุใน ปี59-64 ถือเป็นความประมาททั้งคู่ ได้เงินคืนแค่ครึ่งเดียว รู้ยัง

คดีที่ประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ในสารพัดรูปแบบ จนทำให้เกิดการโจรกรรมทางการเงินผ่านบัญชีธนาคาร ถูกหลอกโอนเงิน ถูกดูดเงิน มีมากถึงเฉลี่ยถึงวันละ 800 คดี   จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  

ซึ่งมิจฉาชีพ มักใช้กลลวงเพื่อให้เกิดธุรกรรมทางการเงิน เช่นการโอนเงินออกจากบัญชี การกู้เงินออนไลน์จากสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการ แล้วโอนเงินเหล่านั้นออกไปยังบัญชีม้าอย่างรวดเร็ว แม้ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ล้วนพยายามหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ทันกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพ แต่ก็ยังปรากฏความเสียหายจากเหตุเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง 

ถูกดูดเงินออกจากบัญชี

ผู้เสียหายอาจเข้าใจว่า เมื่อตนเองถูกหลอกลวงให้เกิดธุรกรรมทางการเงินขึ้น ธนาคารต้องเป็นผู้รับผิดชอบในจำนวนเงินที่เกิดความเสียหายทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่น

ฐานเศรษฐกิจ เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาใหม่ ที่ 6233/2564 ที่ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกให้กดลิงก์ ควบคุมโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินออกจากบัญชี จะได้รับเงินคืนจากธนาคารเพียงครึ่งเดียว

คดีดังกล่าว ผู้เสียหายถูกโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของตนเอง ไปยังบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 3 บัญชี รวม 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,100,000 บาท เนื่องจากถูกหลอกให้กดลิงก์ ทำให้คนร้ายสามารถเข้าควบคุมข้อมูลในมือถือ และทำการโอนเงินออกไปได้ คดีนี้ผู้เสียหายได้ฟ้องบังคับให้ ธนาคารเจ้าของบัญชี ชำระเงิน 1,181,723 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,100,00 บาทคืนแก่ตนเอง 

ศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์(ผู้เสียหาย) เพราะ เห็นว่า เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ของผู้เสียหายเอง ที่ไปกดลิงก์ดังกล่าว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ต่อมา ศาลฎีกา ได้กลับคำพิพากษา ให้ผู้เสียหาย และธนาคารร่วมรับผิดชอบกันคนละครึ่ง เนื่องจากศาลเห็นว่า  ธนาคารก็มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย เพราะควรหาทางป้องกัน การโอนเงิน ของลูกค้า ให้มากกว่าการเปิดช่องให้คนร้ายกระทำการดังกล่าวได้สำเร็จ 

ซึ่งธนาคารทราบดีว่า มีกลุ่มคนร้าย ใช้วิธีการหลอกประชาชนผู้สุจริต ด้วยกลวิธีต่างๆ ให้หลงเชื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้หลงเชื่อ และกดลิงก์ปลอม หรือ ติดตั้งแอพปลอม เพื่อก่อการโจรกรรม 

ดังนั้น ในคดีนี้ ผู้เสียหายจึงได้รับเงินคืนจากธนาคารเพียงครึ่งเดียว เป็นจำนวน 550,000 บาท จากมูลค่าความเสียหาย 1,100,000 บาท

ทั้งนี้ กรณีผู้เสียหาย เผลอกดลิงก์ปลอม หรือไปติดตั้งแอพดูดเงินในระหว่าง ปี 2559-2564 จนทำให้ถูกโจรกรรมบัญชีเงินฝาก ให้ถือเป็นความประมาทเลินเล่อจากทั้ง 2ฝ่าย คือผู้เสียหายเอง และธนาคารเจ้าของบัญชี ที่เปิดช่องให้สามารถทำธุรกรรม ทางการเงิน ผ่านมือถือ ได้เกิน 1 เครื่อง ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2564  วางบรรทัดฐานให้ ธนาคารนั้นๆ ต้องชดใช้เงินคืนให้ลูกค้า 50% และเจ้าของบัญชีต้องยอมรับความเสียหายอีก 50%
 

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 เป็นต้นมา ธนาคารได้ปรับปรุงระบบการทำธุรกรรมออนไลน์ ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น คนร้ายจึงไม่สามารถแอบทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ไปพร้อมๆกับเจ้าของบัญชีได้อีกต่อไป