SCB EIC ฟันธงกนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง ก่อนคงระดับที่ 2% ปีนี้

26 ม.ค. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2566 | 09:14 น.

SCB EIC ประเมิน กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง เดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม และจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ตลอดปี 2566

 

หลังจาก กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.5% ต่อปี เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.66 ) 
 

นักวิเคราะห์ จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB EIC) คาดว่ากนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 2% ในปีนี้ โดยกนง.มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม 2566 ครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ 

ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.4% จากแรงส่งสำคัญของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และจะทำให้การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยเริ่มเห็นการหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งส่งออกในปีนี้อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ยุโรปและอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอาจขยายตัวต่ำเหลือเพียง 1.2% ในปี 2566

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลง แต่จะยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2565 ขยายตัวที่ 6.1% SCB EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 3.2% ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่ยังสูง รวมถึงการเร่งตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน 

โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้อาจเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย เป็น 2.7% จาก 2.5% ในปี 2565จากผลของเงินเฟ้อที่ได้ขยายวงกว้างไปยังราคาสินค้าและบริการหมวดอื่นมากขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์มากขึ้นได้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การเปิดประเทศของจีน สภาพอากาศโลกแปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลให้มี Upside risk ต่ออัตราเงินเฟ้อได้

ค่าเงินบาทในปี 2566 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี โดยนับตั้งแต่ต้นปีนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 5.6% และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้  

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปีนี้ ตามการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

บทวิเคราะห์โดย : SCB EIC 

ผู้เขียน  :  ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน อีเมล [email protected]

: คุณณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์ อีเมล [email protected]