พิษหุ้น MORE ตลท.รื้อใหญ่ทุกขั้นตอนทำงาน

16 ม.ค. 2566 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 00:31 น.

หุ้น MORE พ่นพิษ ทำตลาดหลักทรัพย์รื้อใหญ่ ขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หวังเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างเชื่อมั่น บล.จ่อตั้งเครดิตบูโร แชร์ข้อมูลลูกค้า หวั่นซ้ำรอย MORE

ทางการเมืองอาจจะเคยได้ยิน “พฤษภาทมิฬ” แต่ในวงการตลาดหุ้นไทยได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พฤศจิกาทมิฬ” หลังเกิดเหตุผิดปกติจากการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด(มหาชน) หรือ MORE ด้วยมูลค่าที่สูงผิดปกติจาก 300 ล้านบาท พุ่งขึ้นเป็น 7,000 ล้านบาทเศษในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 จากราคาเปิดตลาด(ATO) ที่ 2.90 บาท ปริมาณซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น ส่งผลมีมูลค่าเกือบ 4,500 ล้านบาท

ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งอายัดทรัพย์วงเงินกว่า 5.3 พันล้านบาท หลังตรวจพบว่า บุคคลที่เกี่ยวข้อง 24 ราย ตั้งคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE ในลักษณะเดียวกัน มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน มีหลายเลข IP ตรงกับคำสั่งซื้อขายของและอยู่ในสถานที่เดียวกัน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ให้บทเรียนกับตลาดหลักทรัพย์เยอะมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า ขั้นตอนการทำงานการกำกับดูแลตลาดหุ้นมีจุดไหนที่ต้องเพิ่มเติมหรือต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“เราต้องกลับไปพิจารณาและปรับปรุงทั้งกระบวนการว่า จะทำอย่างไรให้ในอนาคตตลาดทุนไทยมีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ร่วมตลาดมากขึ้น เราจึงต้องปรับขบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” นายภากรกล่าว

ดังนั้นแผนปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์ จะเดินหน้านโยบาย Supervision พัฒนาในการกำกับดูแลตลาดหุ้นให้ทันสมัย ปัจจัยสำคัญจากสภาพตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป และมีพฤติกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาตลาดทุนครั้งนี้จะเป็นการยกระดับตั้งแต่ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนมาถึงการบริษัทที่เป็นสมาชิก ตลอดจนถึงบริษัทที่พ้นสภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะจัดทำเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

  • สำหรับเรื่องแรกคือ การพิจารณาความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของทั้ง SET, mai และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้างเพื่อให้เหมาะสมมากขึ้นในอนาคต
  •  ประเด็นที่สองคือ ปรับเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ จะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลในอนาคตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น โปรแกรมเทรดดิ้ง อินเตอร์เน็ตเทรดดิ้ง การซื้อขายที่มากขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศ
  •  ส่วนประเด็นที่สาม คือ การพิจารณาปรับกรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงแก้ไขเกณฑ์การใช้ข้อมูลสำคัญๆ เช่น การถือครองหุ้น, การติดต่อกับบริษัทหลักทรัพยด้านต่างๆ เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์จะทำมากขึ้น เช่น เครดิตบูโรของบล.ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประกอบธุรกิจ
  •  ประเด็นสุดท้ายคือ พิจารณาปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำอย่างไรให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นแบบไม่มีรอยต่อ เพราะหากไม่รีบประสานกันแก้ไข ผลกระทบรุนแรงมาก

พัฒนาการสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ปี65

 ขณะเดียวกันด้านสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO)เอง ในระยะสั้นจะมีการทบทวนการพิจารณาความเสี่ยง(Risk Profile) ของลูกค้า ปรับปรุงแนวทางการปฎิบัติงานภายใน เพื่อลดและป้องกันความเสี่ยง ส่วนระยะยาวจะมีการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์และมาตรฐานพร้อมกับพัฒนาศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโร เพราะข้อมูลถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ

 “การใช้ข้อมูลสำคัญมาก แต่ต้องเหมาะสมแต่ละกลุ่มเช่น ตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นักลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อดีตอาจไม่มีการทำข้อมูลให้ชัดเจน โปร่งใสใช้กับแต่ละคนพอ ตอนนี้ข้อมูลแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่ให้ข้อมูลอะไร เมื่อไหร่และใครที่จะต้องเป็นคนที่ต้องแสดงบทบาทนั้น จึงได้หยิบยกกรณีของ MORE มาเป็นกรณีศึกษา” นายภากร กล่าว

ส่วนแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (ปี 66-68) ตลาดหลักทรัพย์จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้านคือ

  1. ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย เพิ่มโอกาสการระดมทุน โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
  2. ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1 ปี 66 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ
  3. ร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน และ
  4. ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน โดยตลท.ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงาน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566