ฟันธง เก็บภาษีหุ้น ต่างชาติหนี วอลุ่มหด ตลาดทุนถอยหลัง 20 ปี

22 ธ.ค. 2565 | 19:44 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2565 | 03:12 น.
764

3 กูรูหุ้น ห่วงรัฐบาลเก็บภาษีขายหุ้น ทำเม็ดเงินลงทุนหาย ตลาดถอยหลัง 20 ปี ต่างชาติเผ่นหนีไปตลาดอื่นแทน เตือน หากสภาพคล่องหายไปแล้ว สร้างกลับคืนมายาก

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือให้ Grace Period ประมาณ 90 วันจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ในอัตราดังนี้ 

 

  • ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% (หรือ 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

 

  • ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.1% (หรือ 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

จากกรณีดังกล่าวนี้ ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ขอเชิญร่วมงาน FETCO Capital Market Outlook เสวนาพิเศษ “ภาษีขายหุ้น…คุ้มหรือไม่” รับฟังมุมมองหลากมิติในเรื่องนโยบายภาษีขายหุ้น  เริ่มจาก  นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมคมนักวิเคราะห์การลงทุน  ว่ามาตรการเก็บภาษีขายหุ้นของภาครัฐที่จะออกมาคงได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงต่อผู้ระดมทุน

 

แต่กระทบโดยตรงต่อผู้ลงทุน เพราะจะทำให้สภาพคล่องในตลาดค่อยๆ ลดลง เนื่องจากต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดที่มีอยู่สูงส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของต่างประเทศถึง 50% หากเก็บภาษีก็อาจจะส่งผลให้สภาพคล่องที่มาจากต่างประเทศหายไปทั้งหมด เนื่องจากอัตราภาษีที่เตรียมเก็บเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น

 

 

หากนักลงทุนต่างชาติกลุ่มที่เข้ามาซื้อขายในประเทศไทยเป็นสัดส่วนราว 50% ต่อวันหายไป มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยจะหดลงไปเหลือเพียง 10,000-30,000 ล้านบาท หรือกลับไปเมื่อช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริงการระดมทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้อย่างแน่นอน ก็จะส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ออกไประดมทุนในตลาดหุ้นอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีกำแพงกั้นที่จะนำบริษัทไประดมทุนในตลาดทุนอื่นๆที่มีสภาพคล่องสูงๆได้

 

ตลาดทุนไทยในปัจจุบันยังไม่ได้มีการพัฒนาไปถึงจุดสูงสุด มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 800 กว่าบริษัทเท่านั้น ซึ่งหากมีบริษัทเข้ามาอยู่ในตลาดมากขึ้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า จะเห็นได้จาก 1.เรื่องความโปรงใส 2.ช่วยให้ภาครัฐสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยในปี 64 ที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนจ่ายภาษีให้กับภาครัฐสูงกว่า 2 แสนล้าบาท จากการเก็บภาษีนิติบุคคลรวมของภาครัฐที่ทำได้เพียง 7 แสนล้านบาท จาก 2 ล้านราย

 

“อาจจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่าตลาดอื่นทำไมเก็บได้ อาทิ ฮ่องกง แต่เค้าคือตลาดพัฒนาแล้ว แต่เรากำลังพัฒนามันต่างกัน ซึ่งเราไม่ได้ไปกังวลกับนักลงทุนที่จะต้องเสียเงินเท่านั้น เท่านี้ เพื่อที่จะลงทุน แต่เราเห็นชัดเจนแล้วว่าสภาพคล่องหายไปแน่นอน จากการที่เราทำสำรวจมาจากการพูดคุยโดยตรง ไม่ใช่การสำรวจจากทฤษฎี เรายกหูถามนักลงทุนต่างประเทศที่เทรดเยอะๆ เร็วๆ สร้างสภาพคล่องให้เราว่าคุณจะอยู่กับเราถ้ามีภาษีตัวนี้ เค้าบอกไม่อยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงมากๆเพราะหากสภาพคล่องหายไปแล้ว สร้างกลับคืนมายากมากๆ ซึ่งปัจจุบันเรามองว่าจะเก็บเงินภาษีเข้ารัฐเท่านั้นเท่านี้ แต่ที่เราลืมคิดไปคือภาพใหญ่ หากทำมาตรการนี้จะทำให้เราถอยหลังไปอีกเป็น สิบสิบปีเลยในแง่ของสภาพคล่อง”นายไพบูลย์ กล่าว

 

สำหรับการประมาณที่ภาครัฐคาดว่าจะเก็บภาษีจากการขายหุ้นได้ราว 16,000 ล้านบาทนั้น มองว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นประมาณการที่เกิดขึ้นในปี 64 ที่มีปริมาณการซื้อขายระดับ 1 แสนล้านบาทต่อวัน แต่ปีนี้เมื่อธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มกลับมาดึงเงินออกจากระบบ และใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น จะเห็นได้ว่าปริมาณการซื้อขายลดลงไปเหลือ เพียง 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะต้องทำประมาณการใหม่ โดยเฉพาะการคิดจากฐานที่นักลงทุนต่างประเทศจะหายไป 80-90% ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะเหลือเท่าไหร่

 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า หน้าที่ของตลาดทุนคือ เป็นแหล่งระดมทุนให้ภาคธุรกิจ วันนี้ถือว่าทำบทบาทนี้ได้ดีมากๆ มีบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เข้ามาระดมทุนจำนวนมาก และการที่บริษัทสามารถเข้ามาระดมทุนจากตลาดทุนได้เป็นการแบ่งเบาภาระจากภาคการเงิน โดยจะเห็นได้จากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีแหล่งทุนจากธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องหยุดเพื่อซ่อมแซมตัวเองทำให้ภาพรวมของประเทศหยุดชะงัก เนื่องจากไม่มีการระดมทุนจากแหล่งอื่นๆได้

 

แต่ปัจจุบันที่มีตลาดทุนที่ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการที่เป็นแหล่งระดมทุน เข้ามาเสริมเส้นเลือดเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เพียงเส้นเดียวแล้ว ทำให้ภาพรวมสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีการระดมทุนจำนวนมากจากบริษัทขนาดใหญ่ได้ มาจากสภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดทุนขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ซึ่งมีผู้ลงทุนหลากหลาย และ มีสภาพคล่องในตลาดหุ้นสูงที่สุดในอาเซียนถือว่าเป็นข้อดีมากๆของตลาดทุนไทย หากวันไหนสภาพคล่องหายไปการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซบเซาลงไปทันที เพราะดำเนินการได้ยากขึ้น

 

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยข้อมูลเป็น 2-3 ประเด็น คือ 1. แนะนำให้ภาครัฐหันไปจัดเก็บภาษีที่ดินที่เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศมากที่สุด โดยจะเห็นได้จากมีประชากรเพียง 5% ที่ถือครองที่ดินในประเทศเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของประเทศ ส่วนอีก 75% ของประชากรในประเทศไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน

 

2.มองว่าตลาดทุนไม่ได้เป็นตลาดของคนรวยเสมอไป แต่เป็นช่องทางแห่งโอกาส โดยปัจจุบันคนรุ่นใหม่การที่จะประสบความสำเร็จ อยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเงินนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่จะต้องเจอ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆที่จะเข้ามาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคน ซึ่งตลาดทุนถือว่าเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะพัฒนาฐานะให้ขึ้นไปได้ เพราะฉะนั้นหากไม่อยากที่จะปิดโอกาสของเด็กรุ่นไม่ ก็ไม่ควรที่จะดึงเงินออกจากตลาดทุน ซึ่งการเก็บภาษีส่วนนี้เป็นการดึงเงินออกจากตลาดทุน

 

3.คุณค่าที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีในส่วนนี้ออกไป อาทิ การใช้นโยบายของชวัญปีใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการนำเงินจากตลาดทุนที่เป็นการลงทุนระยะยาวมาเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ดึงเงินออกไปเพื่อให้คนจับจ่ายใช้สอย แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงไปตกอยู่กับ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นมุมมองที่ค่อนข้างขัดกัน

 

นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนวเน้นคุณค่า (VI) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมตลาดทุนในแง่มุมต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดทุนมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและถือว่านำกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากภาครัฐสามารถใช้ตลาดทุนเป็น ก็จะสามารถพัฒนาด้านต่างๆในประเทศได้อีกมากโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุน

 

หากมองระยะยาวหากนำรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้ามาในตลาดทุน เพื่อที่จะพัฒนาขั้นต่อไปของประเทศในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น และยังสามารถที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้กับการพัฒนาโครงการต่างๆได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธภาพ จากที่ดำเนินกิจการในรูปแบบเดิมๆมาโดยตลอด การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้ช้า ยังไม่รู้ว่าผลกระทบจะมากแค่ไหน