"ตลาดทุน" จี้รัฐทบทวนเก็บภาษีขายหุ้น

07 ธ.ค. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2565 | 16:23 น.
666

ตลาดทุน ค้านสุดโต่ง ! เก็บภาษีขายหุ้น จี้รัฐทบทวน ประธานเฟทโก้ ยันได้ไม่คุ้มเสีย-ศก.ไม่เอื้อ ซ้ำเติมตลาดทุน"ไพบูลย์" ห่วงกองทุนต่างชาติ หนีซบตลาดอื่น จากต้นทุนพุ่ง ดร.นิเวศน์ มองข้ามช็อต เก็บcapital gain tax

 

จากการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. เห็นชอบการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ในอัตรา 0.10% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น ตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยในปีแรกจะจัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่งหรือในอัตรา 0.055%  โดยจะออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่.. พ.ศ. ....และจะจัดเก็บเมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นกระทรวงการคลังคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล 1.6-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

ต่อเรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ( FETCO)  เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" ว่า ขณะนี้ทางตลาดทุนอยู่ระหว่างหารือว่าจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร ซึ่งโดยรวมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเก็บภาษีขายหุ้น และยังยืนยันว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม  

 

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้ง่าย และมีนัยยะหลากหลาย จึงอยากให้ภาครัฐบาลได้ทบทวนมติครม.ดังกล่าว ซึ่งต้องดูว่าภาครัฐจะตัดสินใจอย่างไร "

 

ประธานเฟทโก้ ย้ำอีกว่ายังยืนยันว่า"ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม" เพราะข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทุกคนพูดตรงกันว่า ประเทศในตลาดเกิดใหม่จะเกิดปัญหา ซึ่งจะส่งต่อสภาพคล่องโดยรวมอยู่แล้ว และทำไมต้องไปซ้ำเติมให้สภาพคล่องไปอีก  และที่สำคัญเราต้องแข่งขันในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ แม้แต่สิงคโปร์ก็ไม่เก็บภาษีขายหุ้น 

 

"ผมมองนโยบายการเก็บภาษีได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเมื่อตลาดทุนไม่เข็มแข็ง การดึงดูดบริษัทต่าง ๆก็จะลดลง เม็ดเงินภาษีที่ควรได้จากบริษัทต่าง ๆก็ลดลงเช่นเดียวกัน"
          
 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอดีตประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" ว่าเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีขายหุ้นเพราะห่วงเรื่อง สภาพคล่องตลาดหุ้น เพราะสภาพคล่องครึ่งหนึ่งของตลาดหุ้นไทยมาจากกองทุนต่างชาติ ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมซื้อขายค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด  และวันนี้นักลงทุนต่างชาติเข้าไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน แน่นอนว่าเมื่อมีการเก็บภาษีขายหุ้นจะเพิ่มต้นทุน และดึงให้นักลงทุนกลุ่มนี้โยย้ายไปตลาดอื่น เฟทโก้ เคยประเมินไว้เมื่อต้นปี 2565 อาจกระทบต่อสภาพคล่องถึง 40% ของการซื้อขายในตลาดหุ้น

 

"ทุกวันนี้ค่าธรรมเนียมที่กลุ่มนี้ซื้อขาย ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของภาษีขายหุ้นด้วยซ้ำ  กล่าวคือมีต้นทุนในการเทรดหุ้นไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.06% (ค่าธรรมเนียมซื้อ + ขายรวมกัน) การเก็บภาษีขายหุ้นที่ 0.10% จะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 167% นักลงทุนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการซื้อขายรายวันสูงถึง 40-50% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด  จึงอยากให้ภาครัฐมองผลในระยะยาว " นายไพบูลย์ กล่าว 

สภาพคล่องตลาดทุนถือหุ้นหัวใจสำคัญ เพราะอาจกระทบถึงส่วนอื่น ๆตามมา เช่นการเข้ามาระดมทุนโดยการทำไอพีโอ หรือเพิ่มทุนก็ดี จะได้รับผลกระทบจากการระดมทุนในราคาที่แพงขึ้น รวมถึงกิจการ/บริษัทที่ภาครัฐอยากส่งเสริมให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะได้รับกระทบ  และปัจจุบันเรามีนักลงทุนในตลาดหุ้นแค่ 3 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก เรายังยากให้มีการระดมทุนมากกว่านี้ 

 

ชี้ระยะยาวรัฐได้ไม่คุ้มเสีย

 

นายไพบูลย์ กล่าวต่อ ว่าความจริงตลาดทุนมีการเสียภาษีมากอยู่แล้ว ยกตัวอย่างการซื้อขายหุ้นทุกทรานเช็กซั่นต้องเสียแวต 7% และเมื่อได้รับเงินปันผลต้องเสียภาษี 10%  ขณะที่นิติบุคคลซื้อขายหุ้น ก็ต้องเสียภาษี 20% จากรายได้  และความจริงฐานภาษีที่รัฐจัดเก็บได้มากสุดก็มาจาก"ภาษีนิติบุคคล" จากการที่บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุน ซึ่งต้องโปร่งใส แสดงงบการเงินให้เห็น ซึ่งรัฐเป็นฝ่ายได้ การยกเว้นเก็บภาษีขายหุ้น จึงเป็นการส่งเสริมให้กิจการอยากเข้าตลาด รัฐจึงต้องมองผลในระยะยาวซึ่งคุ้มค่ากว่าเม็ดเงินที่ได้จากการเก็บภาษีขายหุ้น 

 

ส่วนกรณีที่โลกโซเชียล ไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นของรัฐบาล โดยมีสมาชิกตั้งกระทู้ในเว็บ "พันทิป" เสนอให้รายย่อยรวมพลังเม่าหยุดเทรด 1 วัน เพื่อแสดงพลังคัดค้านการเก็บภาษีขายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม ในวันที่ 8 ธ.ค. 2565 

 

เขากล่าวว่า เรื่องนี้  เราเป็นธุรกิจคงไม่ไปขัดขืน แต่ส่วนตัว สมัยที่เป็นประธานสภาตลาดทุนก็ได้มีการไปชี้แจงในเรื่องนี้มาหลายรอบ  ชี้แจงจนครบถ้วน และภาครัฐก็มีข้อมูลครบถ้วนในมือ 

 

ด้านดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนคุณภาพ หรือ Value Investor : VI กล่าวว่า  ตลาดทุนเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศให้การส่งเสริมให้มีการเติบโตพัฒนา เพราะตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศที่ดีมาก เนื่องจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนทำได้ง่าย และเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพสูง  จึงให้สิทธิประโยชน์ภาษีเป็นพิเศษ เหมือนกับกรณีการส่งเสริมการลงทุน "บีโอไอ" จึงเป็นเหตุผลว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ไม่เก็บภาษีขายหุ้น

 

"ที่ผ่านมาไทยก็ส่งเสริมโดยยกเว้นการเก็บภาษีการขาย ถามว่ายังจำเป็นไหม ก็ยังจำเป็น เพราะปัจจุบันมีเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน กับประเทศอื่น ๆ เช่นสิงคโปร เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังส่งเสริมพัฒนาตลาดทุน โดยให้สิทธิภาษีค่อนข้างดีมาก เพื่อเป้าหมายกลางเป็นศูนย์กลางของตลาดทุน 

 

นอกจากนี้เงินที่รัฐจะได้จากภาษีขายหุ้น มองว่าไม่ได้มาก จึงไม่คุ้มเมื่อเทียบกับการมีตลาดทุนที่คึกคัก ประเทศที่ได้รับดังนั้นรัฐน่าจะไปหาแหล่งรายได้ภาษีอื่น ๆ จะดีกว่า  เพราะหากต้องเก็บภาษีส่วนนี้และทำให้ตลาดทุนไทยด้อยลงไป ไม่คุ้มค่าที่จะทำ 

 

 กังวลสัญญาณรัฐเก็บ"capital gain tax"

 

"การเก็บภาษีขายหุ้น จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องตลาดลดลง  จากผู้เล่นในตลาดที่น้อยลง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในระดมทุน และเพิ่มต้นทุนการระดมทุน ลดประสิทธิตลาดทุน มองแล้วไม่มีประโยชน์ รายได้ที่รัฐได้รับ ก็ไม่คุ้มกับต้นทุนการระดมทุนในตลาดที่เพิ่มขึ้นมาก   และไทมมิ่งขณะนี้ เศรษฐกิจก็ไม่เอื้อ  ยิ่งทำยิ่งหนาว "  ดร.นิเวศน์ กล่าว และว่า

 

"ส่วนตัวผมไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการเก็บภาษีจากการขายหุ้น 0.11% ถือว่าไม่ได้มาก ที่กระทบคือนักลงทุนเก็งกำไร หรือเทรดเข้า-ออกถี่    แต่อย่างไรในภาพรวม ผมก็ไม่เห็นด้วย  เพราะกังวลว่า จะเป็นส่งสัญญาณว่ารัฐจะเริ่มไม่ส่งเสริมตลาดทุน  ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะนำไปสู่การเก็บภาษี " capital gain tax " หากรายได้ที่รัฐจัดเก็บไม่เพียงพอ  ซึ่งจะกระทบนักลงทุนระยะยาวเสียหายนัก   เป็นการฆ่าตลาดทุน ทำให้ตลาดทุนวาย ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน  นักลงทุนกังวลตรงนั้นมากกว่า"  

.