เผยคนไทยใช้แอปการเงินมากสุดในอาเซียน

25 พ.ย. 2565 | 18:22 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 01:45 น.

กลุ่ม Sea (Group) เผยผลสำรวจจากรายงาน Thai Digital Generation 2022 “การเข้าถึงการเงินในยุคดิจิทัล ระบุไทยมีสัดส่วนคนใช้แอปฯ การเงินดิจิทัล อยู่ที่ 83% ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน ชี้จำเป็นในการสร้างเสริม Digital Literacy และ Financial Literacy ควบคู่กัน

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea (Group)ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney)  เผยว่า “พฤติกรรมการใช้บริการทางการเงินของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็วใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบันนี้ ถือเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากต่อการให้ความช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงสภาวะที่ความไม่แน่นอนโดยเฉพาะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มมากขึ้น

เผยคนไทยใช้แอปการเงินมากสุดในอาเซียน

 ดังนั้น เราจึงมุ่งทำความเข้าใจถึงการบริการการเงินดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจถึงภาพรวมการเข้าถึงบริการทางการเงินในประเทศในปัจจุบัน ช่องว่างที่ยังเหลืออยู่ และแนวทางการดำเนินการเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น เนื่องด้วยคนไทยมองบริการทางการเงินเป็น ‘ตาข่ายรองรับทางสังคม’ (Social Safety Net) ที่มีความสำคัญ โดยกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจเป็น ‘คนยุคดิจิทัล’ (Digital Generation)  ซึ่งจัดทำโดย Sea (Group) และ World Economic Forum (WEF)  หมายถึงผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยหลากหลายวัย ในช่วงอายุ 16 – 60 ปี จำนวนกว่า 8,000 คน โดย 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุต่ำกว่า 35 ปี 53% เป็นเพศหญิง และราว 17% เป็นผู้ประกอบการ MSME”

เทรนด์ใหญ่ คนไทยใช้แอปฯ การเงินมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

 

ประเทศไทยมีสัดส่วนคนใช้แอปฯ การเงินดิจิทัล (อีแบงค์กิ้งและอีวอลเลท) อยู่ที่ 83% ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นหนึ่งในสองประเทศในภูมิภาคที่สัดส่วนคนใช้แอปฯ การเงินเหล่านี้ สูงกว่าโซเชียลมีเดีย (72%)

 

ราว 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีประสบการณ์การใช้บริการทางการเงิน และต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต ทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมไปถึงพฤติกรรมการออมและการลงทุน แม้แต่ในหมู่คนที่เข้าถึงบริการการเงินได้ดีและสามารถเข้าถึงประโยชน์จากสินเชื่อ การลงทุน และบริการประกันภัยได้อยู่แล้ว ก็ยังต้องการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

 

ทั้งนี้ การให้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนช่องทางออฟไลน์เป็นช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทางเงินที่สามารถช่วยปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะบุคคล ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจไม่มีการให้บริการแบบออฟไลน์หรือมีราคาค่าบริการที่ถูกกว่า

ดร.สันติธาร อธิบายเสริมว่า “หากเปรียบระบบการเงินปัจจุบันให้เป็นอาคารสูง ชั้นล่างมีผลิตภัณฑ์การเงินขั้นพื้นฐาน เช่น บัญชีออมทรัพย์ และการทำธุรกรรมชำระเงิน ในขณะที่ชั้นสูงขึ้นไปมีผลิตภัณฑ์ขั้นแอดวานซ์ เช่น เครดิต การลงทุน การทำประกัน เราพบว่าผู้คนส่วนมากยังอยู่ที่ชั้นล่าง โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีบัญชีออมทรัพย์และเข้าถึงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่คนหลายกลุ่มยังคงเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSME ผู้หญิง คนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ชนบท โดยมีคนยุคดิจิทัลในประเทศไทยเพียง 28% เท่านั้นที่เข้าถึงทั้งสินเชื่อ การลงทุน และประกัน ในด้านสินเชื่อพบว่า มี MSME ที่ต้องการสินเชื่อไม่ถึงครึ่งที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ในขณะที่ด้านการลงทุน กลุ่มคนส่วนใหญ่กว่า 60% ใช้บริการออมเงินไว้ในบัญชีเท่านั้น”

 

“ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ก็เปรียบเสมือนการสร้าง ‘บันได’ ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงและรับประโยชน์จากบริการทางการเงินในชั้นที่สูงขึ้นไปได้ เนื่องจากสามารถเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินได้จากระยะไกล ในทุกพื้นที่ และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ทั้งยังสามารถช่วยลดกระบวนการที่ใช้เวลานาน และขยายกลุ่มเป้าหมายให้กลุ่มอื่นเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินได้อย่างง่ายขึ้นเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาข้อเสนอบริการที่มีอยู่แล้วในชั้นที่สูงขึ้นไป โดยช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถปรับและนำเสนอบริการทางการเงินให้ตอบความต้องการเฉพาะบุคคลได้มากขึ้นโดยใช้ดาต้า ซึ่งช่วยให้ผู้ให้บริการที่เป็น Fintech หรือ Digital Bank รวมทั้งสถาบันการเงินดั้งเดิมที่มีการทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับแต่ละบุคคลคืออะไร ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้” ดร.สันติธาร กล่าว 

 

ความรู้ทางการเงินและดิจิทัล เป็นกุญแจสำคัญ ในการกระตุ้นการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลอย่างปลอดภัยรายงานยังพบว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความแตกต่างกันตามพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ซึ่งในชนบทยังมีช่องว่างทางความรู้อยู่มาก ในด้านการจัดการทางการเงินและความเข้าใจเกี่ยวกับบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น แม้เทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง แต่ไม่สามารถละเลยการให้ความรู้ด้านการเงินได้ โดยความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้บริการการเงินในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุนและบริหารการเงินส่วนตัว นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนขาดความรู้ที่สุดคือสินเชื่อ

  

คนยุคดิจิทัลระบุว่าการเรียนรู้ด้านการเงินที่ได้ผลดีที่สุด คือ การเรียนรู้จากลองทำเอง ตามมาด้วยครอบครัวและเพื่อน และพนักงานประจำสาขาธนาคารหรือจุดให้บริการทางการเงิน สื่อสังคมออนไลน์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้เรียนรู้จากพนักงานของสถาบันการเงินหรือจุดให้บริการทางการเงิน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ยังมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าอยากเรียนรู้จากทั้ง 2 ช่องทางนี้ นอกจากนี้ การมีความรู้ด้านดิจิทัลก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพื่อลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของเงินและข้อมูล อันเป็นความกังวลอันดับต้น ๆ ของคนยุคดิจิทัล

 

“ด้วยเหตุนี้ การสร้างเสริมความรู้ด้านการเงินและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน    จะละเลยไม่ได้ ซึ่งเราก็สามารถเห็นได้ว่าผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนผู้ออกนโยบายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกันกับ Sea (Group) ที่ได้เริ่มให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงินในประเทศไทย ผ่านเนื้อหาการเรียนรู้บน SeaAcademy.co และในปีหน้าจะมีโครงการพัฒนาความรู้ด้านการเงินโดยใช้เกมิฟิเคชั่น (Gamification) เข้ามาช่วยย่อยเนื้อหาเรื่องการเงินที่คนมองว่ายาก ให้เรียนรู้ได้อย่างง่ายดายและสนุกขึ้น นับเป็นการต่อยอดการให้ความรู้เพื่อสร้างความพร้อมของผู้คนในยุคดิจิทัล เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการทำโครงการสร้างเสริมทักษะดิจิทัลมาโดยตลอด” ดร.สันติธาร กล่าวปิดท้าย

 

เนื้อหาที่น่าสนใจจากรายงาน Thai Digital Generation 2022 “การเข้าถึงการเงินในยุคดิจิทัล” ยังมีอีกมากมาย อาทิ

●            คนไทยครองแชมป์การลงทุนในทองคำและล็อตเตอรี่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

●            ประเทศไทยมีสัดส่วนคนที่การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีโปรไฟล์คล้ายคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น

●            คนยุคดิจิทัลในประเทศไทย ระบุว่าบริการทางการเงินเป็น “ตาข่ายรองรับทางสังคม” หรือเป็นที่พึ่งพิงยามยาก มากที่สุดในภูมิภาค แตกต่างจากประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นการบริหารสภาพคล่องหรือการออมเงินเพื่ออนาคต