ทีทีบี ชี้ปี 66 ธุรกิจแบงก์รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย-ต้นทุนการเงินเพิ่ม

05 พ.ย. 2565 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2565 | 15:14 น.

ทีทีบี เผย 3ปัจจัย “เศรษฐกิจถดถอย ต้นทุนดอกเบี้ย-นำส่งเงินFIDF”กดดันธุรกิจธนาคารปี 66 จับตาแบงก์ขึ้นดอกเบี้ย 0.50-0.60% แนวโน้มเอ็นพีแอลยังขยับ

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า  แนวโน้มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2566 ยังต้องเผชิญความท้าทาย 3ปัจจัย ประกอบด้วย  

 

1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวถดถอย   

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและต้นทุนทางการเงิน

 

3.การกลับไปนำส่งเงินให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในระดับเดิมที่ระดับ 0.46% (วันที่ 1 มกราคม 2566)  จากเดิมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนปรนด้วยการปรับลดเงินนำส่งFIDFลงมาเหลือ  0.23% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในช่วงที่มีการปรับลดเงินนำส่งFIDFนั้น  จะเห็นว่าธนาคาพาณิชย์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตระกูล M ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงประมาณ 0.50% ต่อปี 

ด้านแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2566 นายปิติคาดว่าการปรับขึ้นและลดลงเล็กน้อย เพราะจะมีหนี้เสียทั้งไหลเข้าและไหลออก  เนื่องจากรายที่ถูกกระทบจากโควิด-19เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้ 

 

แต่ยังมีความเสี่ยงฝั่งขาเข้าที่มาจากเศรษฐกิจโลกถอถอยหรือชะลดตัวอาจส่งผลกระทบภาคส่งออกของไทย และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้กระทบความสามารถในการชำระหนี้