ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.05 บาทต่อดอลลาร์

18 ต.ค. 2565 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 16:50 น.

เงินบาทแข็งค่าอย่างจำกัดในระยะสั้น เหตุจากปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้ง “การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.05 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.23 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง แต่ทว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมาอ่อนค่าลงได้อีกครั้ง หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดไว้ แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจมีอยู่อย่างจำกัดในระยะสั้นนี้ โดยเงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 37.70-37.80 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ เนื่องจากปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

ทั้งในแง่การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ เรามองว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับ ก็อาจหนุนให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

 

 

 

 

อีกปัจจัยที่ควรจับตามองในช่วงนี้ คือ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ไทย และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งเรามองว่า หากแรงขายหุ้นไทยอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง

 

ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในช่วงนี้ แต่จะต้องเห็นการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติก่อน ถึงจะเริ่มเห็นแนวโน้มการกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนของเงินบาทได้

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.15 บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะ Bank of America และการตัดสินใจยกเลิกแผนการปรับลดภาษีที่ได้ประกาศก่อนหน้าของรัฐบาลอังกฤษ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น

 

โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผลประกอบการที่ดีกว่าคาดของ Bank of America ได้ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Bank of America +6.1%, JPM +4.2% ขณะเดียวกันแนวโน้มบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ไปได้ไกล ก็ช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างกลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และ

 

หุ้นสไตล์ Growth เพื่อลุ้นผลประกอบการที่จะทยอยประกาศ ทำให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้น (Amazon +6.5%, Microsoft +3.9%) ช่วยให้โดยรวมดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ สามารถปิดตลาด +2.65%

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.83% หลังรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยกเลิกแผนการปรับลดภาษีที่ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินก่อนหน้า หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า

 

อาทิ หุ้นกลุ่มธนาคาร (HSBC +2.7%) หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Hermes +2.6%) รวมถึง หุ้นเทคฯ (Adyen +6.5%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างมองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00%

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways หรืออาจปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ทว่า ระดับบอนด์ยีลด์ระยะยาว ณ ปัจจุบัน สูงขึ้นมาพอสมควรและเริ่มน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อเตรียมพอร์ตให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 112 จุด กดดันโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของค่าเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และค่าเงินยูโร (EUR) หลังรัฐบาลอังกฤษได้ยกเลิกแผนการปรับลดภาษี อนึ่ง แม้ว่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวอ่อนค่าลง

 

แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 4.00% ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับแถว 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าหากราคาทองคำแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าว หรือ ย่อลง ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้าง

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวราว +3.4%y/y ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนจากภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคโดยรวมยังคงซบเซาจากผลกระทบของนโยบาย Zero COVID และปัญหาหนี้อสังหาฯ

 

ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจเดือนกันยายนอาจยังสะท้อนการชะลอตัวลงต่อเนื่องของภาคการบริการและการบริโภคจากผลกระทบของมาตรการ Zero COVID โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจโตชะลอลงเหลือ +3.5%y/y จากที่โต +5.4% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนจากภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากการซบเซาของภาคอสังหาฯ ชี้โดยยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่จะโตกว่า +6.0%y/y

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนตุลาคมอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ -67 จุด สะท้อนว่า บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์อาจยังคงมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูง แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงความเสี่ยงวิกฤตพลังงาน

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต หรือ

 

ผู้บริหารต่างแสดงความกังวลแนวโน้มผลประกอบการมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อแนวโน้มผลกำไร กดดันให้ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 38.12-38.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.45 น.) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 38.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทและสกุลเงินเอเชียบางส่วนขยับแข็งค่ากลับมา (จากที่เผชิญแรงเทขายเมื่อวานนี้) หลังจากการยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีของทางการอังกฤษหนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวขึ้น

 

นอกจากนี้การกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนของทางการจีนที่ระดับแข็งค่ากว่าระดับอ้างอิงของวันทำการก่อนหน้า ก็เป็นปัจจัยบวกที่ช่วยประคอง sentiment ของสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของทิศทางค่าเงินเอเชียที่ยังอาจผันผวนในระหว่างวันอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 37.85-38.15/38.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินเอเชีย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค.