อิตาเลียนไทยคว้าสัมปทานเหมืองแร่โพแทช อุดรฯ 25 ปี พื้นที่กว่า 2.64 หมื่นไร่

11 ต.ค. 2565 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 17:52 น.
2.7 k

บมจ.อิตาเลียนไทย (ITD) เผยบริษัทย่อยคือ"บจก.เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น" หรือ APPC ได้รับประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี ระยะเวลา 25 ปี พื้นที่กว่า 2.64 หมื่นไร่ ขณะที่ราคาหุ้น ITD เช้านี้ เปิดตลาดรับข่าวพุ่ง 11.92%

 

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD   เมื่อเวลา 9.59 น.เช้านี้ ( 11 ต.ค. 65 ) พุ่ง 11.92% หรือเพิ่มขึ้น 0.23 บาท มาที่ 2.16 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 123.83 ล้านบาท จากราคาเปิด 2.22 บาท ราคาสูงสุด 2.28 บาท ราคาต่ำสุด 2.14 บาท

 

ITD  เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 65 บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) (บริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นใหญ่ 90% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 10%) ได้รับมอบประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทชจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
         

โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเชิญชวนบริษัทต่างๆ ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทช ซึ่งบริษัท APPC ได้รับสิทธิดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เป็นคำขอประทานบัตรจำนวน 4 แปลงของแหล่งแร่อุดรใต้รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1งาน 49 ตารางวา

 

 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบฯ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ต่อมาคณะกรรมการแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้อนุญาตประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 3 การทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โพแทช เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2565
         

แหล่งแร่อุดรใต้มีปริมาณสำรองแร่ทั้งหมด 85,820,781 เมตริกตัน เมื่อนำมาแต่งแร่จะได้โพแทชเซี่ยมคลอไรด์ (KCl) รวมเป็นจำนวน 33,715,307 เมตริกตัน ในอัตราการผลิตสูงสุด 2.1 ล้านตันต่อปีโดยมีข้อผูกพันที่จะต้องขายในประเทศก่อนประมาณ 700,000 ตันต่อปี ส่วนเกินจึงจะส่งออกต่างประเทศประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี
         

 

ระยะเวลาการอนุญาตประทานบัตร 25 ปีเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ผลิตแร่โพแทช 21 ปี และปิดเหมืองประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตามตามกฎหมายบริษัทฯ สามารถขอขยายสัมปทานเพิ่มได้อีก 5 ปี
         

ทั้งนี้ราคาประกาศล่าสุดของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 65 คือ 34,250 บาทต่อเมตริกตัน นอกจากนั้นแร่โพแทช (K) เป็นแม่ปุ๋ย หนึ่งในธาตุอาหารส คัญ (N-P-K) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศทั้งหมด จึงประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนและแม่ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นมาก