บีบลีสซิ่ง! กดดอกเบี้ยเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ 10-23%

03 ต.ค. 2565 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 05:40 น.
2.0 k

สคบ.เคาะแล้ว คุมเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์มอเตอร์ไซค์เหลือ 10-23 % จัดระเบียบธุรกิจเช่าซื้อใหม่ทั้งระบบ ดีเดย์ต้นปี 2566 ค่ายรถดีลเลอร์ร้องจ๊าก “หวังดี ผลร้าย” ทำยอดซื้อขายรถยนต์มอเตอร์ไซค์หด แบงก์ลดปล่อยกู้ หนีเสี่ยงหนี้เสีย ไล่คนจนกลับวงจรกู้นอกระบบ

คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเวทีรับฟังความเห็น ต่อร่างประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ....... ที่เป็นการปรับปรุงใหม่ โดยผู้มีส่วนได้เสียถกกันร้อนเแรงมาหลายรอบแล้ว

 

ล่าสุดแหล่งช่าวในวงการเชาซื้อเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า  คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาและคณะกรรมการ สคบ.เห็นชอบร่างประกาศฯ ฉบับใหม่แล้ว จากนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน คาดว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2566

บีบลีสซิ่ง! กดดอกเบี้ยเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ 10-23%

 

  • คุมดอกเบี้ย“รถยนต์-มอเตอร์ไซค์”

สาระสำคัญของร่างฯได้พิจารณาในหลายมิติ แต่บางส่วนที่จะเป็นการจัดระเบียบธุรกิจเช่าชื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ครั้งใหญ่ ประกอบด้วย

  1. กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ รถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้วหรือรถเก่า (มือสอง) และรถจักรยานยนต์ ในอัตราไม่เกิน 10% 15% และ 23%ต่อปี ตามลำดับ
  2. วางหลักเกณฑ์กรณีการคืนรถหรือปิดบัญชีก่อนกำหนด เป็นแบบ 2 ขั้นบันไดคือ ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่างวดไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จึงจะให้ส่วนลดปิดบัญชี 60 % และถ้าชำระค่างวดเกินกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 ให้ส่วนลด 70%
  3. สำหรับกรณียึดรถ เมื่อนำรถออกประมูลขายทอดตลาด หากมีหนี้ส่วนขาดหรือติ่งหนี้ ทางเจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บได้เฉพาะหนี้เงินต้นคงค้างเท่านั้น โดยร่างประกาศฉบับใหม่นี้ไม่อนุญาตให้เรียกเก็บในส่วนดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึง กำหนดชำระหลังที่บอกเลิกสัญญาแก่ผู้เช่าซื้อ
  4. จะนำเบี้ยปรับไปหักชำระค่างวดที่เรียกเก็บต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน (คล้ายของเดิม)
  5. แจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำใช้สิทธิ์ซื้อคืน 30 วัน โดยผู้เช่าซื้อต้องแจ้งสิทธิ์ใน 20 วัน 
  • ค่ายรถชี้แบงก์ลดปล่อยกู้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่วกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากสคบ. กำหนดเพดานดอกเบี้ยรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ในอัตราดังกล่าว ยอมรับว่าตกใจ ทำไมต่ำขนาดนั้น แต่เมื่อออกมาเป็นกฎหมายภาคธุรกิจทุกฝ่ายก็ต้องปฎิบัติตาม แม้ว่าจะเหนื่อย แต่ทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับผลกระทบแน่นอน แม้ว่าโดยส่วนตัวมองว่ายังพอมีช่องทางทำมาหากินได้อยู่ โดยผลกระทบจะไม่เท่ากันในผู้ประกอบการแต่ละราย แต่ละประเภท นับเป็นครั้งแรกที่สคบ.จะกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยรถใหม่ รถเก่าและมอเตอร์ไซค์ ซึ่งถ้าเพดานดอกเบี้ยมอเตอร์ไซค์ออกมาที่ 23 % ต่อปี เท่ากับว่าห่างจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ใช้กันอยู่เกือบ 10%

 

“ปัจจุบันสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ในตลาด คิดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ประมาณ 32-36 % ถ้าเพดานดอกเบี้ยเหลือ 23% ต่อปีมีปัญหาแน่ เพราะผู้ประกอบการรับความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียไม่ได้ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้บางส่วนไม่มีหลักฐานการเงิน ทำให้การอนุมัติสินเชื่อยากขึ้น  เมื่อส่งคำขอสินเชื่อให้แบงก์ก็เชื่อว่าคงปล่อยยากขึ้น เพราะต้องบริหารต้นทุนให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น”

 

นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถใช้แล้ว กล่าวว่า รถใช้แล้วจะมีลูกค้าทั้งที่มีประวัติในเครดิตบูโร และอีกส่วนเป็นกลุ่มรากหญ้าที่ต้องการซื้อรถใช้แล้วเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือใช้ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งบางส่วนไม่มีประวัติทางการเงินที่จะใช้แสดงกับแบงก์ แนวปฎิบัติที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะแข่งกันปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกให้กลุ่มที่ประวัติดีอยู่แล้ว ส่วนอีกกลุ่มต้องรับดอกเบี้ยตามความเสี่ยง

 

นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถใช้แล้ว

  • ผลักคนไร้เครดิตกู้นอกระบบ

ทั้งนี้ แต่ละปียอดขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนคัน (ไม่รวมรถบ้าน) แต่หากเป็นตัวเลขจากกรมขนส่งจะระบุประมาณ 2 ล้านคัน ซึ่งผลกระทบจะตกอยู่กับผู้ใช้รถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุเกินกว่า 10 - 12 ปีขึ้นไป เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจะเกินเพดานที่กำหนด เช่น ประเภทเก๋ง จะคิดดอกเบี้ย 15-20% ต่อปี

 

ปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริงแบบลดต้นลดดอก หรือ Effective Rate กลุ่มรถยนต์ที่มีอายุ 5-6 ปี จะคิดดอกเบี้ยอัตรา 2.79% ต่อปี สำหรับลูกค้ากลุ่มประวัติดี และคิดที่อัตรา 25-30% ต่อปี สำหรับกลุ่มรากหญ้า หากสคบ.กำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ต่ำ ผลร้ายคือจะผลักคนกลุ่มนี้ให้ต้องไปใช้สินเชื่อนอกระบบแทน

 

“กฎหมายออกมาดูดี ดูเหมือนปกป้องผู้บริโภค แต่สุดท้ายกลายเป็นการทำร้ายประชาชน เพราะคนที่ต้องการรถยนต์ไปประกอบธุรกิจหากแบงก์ไม่ปล่อย ต้องไปหาสินเชื่อนอกระบบดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ต้องกู้ ที่น่ากลัวคือ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ซึ่งส่วนใหญ่ของประเทศเป็นรากหญ้าทั้งนั้น เขาจะเข้าถึงสินเชื่อยาก สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ต้องกู้นอกระบบ”

 

  • เพดานดอกเบี้ยต่ำเกินจริง

สอดคล้องกับนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า หากเพดานดอกเบี้ยต่ำเกินไปผู้ประกอบการก็ปรับตัวลำบาก ลูกค้าที่ให้บริการอยู่เป็นกลุ่มรายได้น้อยรายได้ไม่ประจำ ซึ่งก่อนหน้าการระบาดของโควิดก็แบกหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้ว การหารายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ ดอกเบี้ยก็เป็นขาขึ้น ถ้าออกกฎกำหนดเพดานดอกเบี้ยต่ำ คนเข้าถึงสินเชื่อในระบบลดลง โอกาสที่คนจะซื้อรถไปทำงาน หรือประกอบอาชีพก็จะลดลง ซึ่งมีหลายแสนคน เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกฐานข้อมูลเครดิตบูโร ทำให้ยอดขายรถยนต์และจักรยานยนต์ลดลง

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)

 

ผลกระทบยังมีต่อเนื่องถึงอุตสาห กรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน จนถึงโรงงานประกอบ ซึ่งมีการจ้างงานรวมประมาณ 550,000 คน พนักงานในกลุ่มดีลเลอร์อีกราว 100,000 คน รวมถึงบริษัทผู้ให้เช่าซื้อที่ให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะตลาดมอเตอไซค์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ของยอดผลิตรถ 1.8 - 2 ล้านคัน

 

ถ้ายอดขายลดการผลิตลด ต้นทุนต่อคันก็จะแพงขึ้น ขณะที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมการผลิตรถยนต์ในประเทศ เช่น รถไฟฟ้า ถ้ายอดขายไม่เติบโต รายใหม่ก็ไม่เข้ามาลงทุน และบทเรียนการคุมเพดานดอกเบี้ยเคยมีในต่างประเทศ ประกาศใช้ไปเพียง 8 เดือน ตลาดหดตัวถึง 1 ใน 4 ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิก”

 

  • ดีลเลอร์โวย สคบ.โหด

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้กฎหมายใหม่นี้ ส่งผลให้การซื้อ-ขายยากขึ้น และตลาดรถจักรยานยนต์ปลายปีนี้มีโอกาสชะลอตัว เพราะคนจะรอซื้อรถในปีหน้าที่ได้ดอกเบี้ยต่ำลง ดังนั้นจากที่เคยคาดการณ์ว่ายอดขายรวมปี 2565 จะถึง 1.7 ล้านคัน ก็อาจจะไปไม่ถึงตัวเลขนี้

 

“จากไฟแนนซ์เคยเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ระดับ 30-32% ต่อปี แต่ถ้าควบคุมลงมาเหลือ 23% จะทำให้บริษัทไฟแนนซ์ กับดีลเลอร์ต้องปรับตัวพอสมควร เช่นไฟแนนซ์ต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และคงต้องไปลดค่าคอมมิชชันที่ให้กับดีลเลอร์ด้วย”

 

ส่วนใหญ่ตลาดรถจักรยานยนต์เป็นคนระดับฐานราก บวกกับสภาพเศรษฐกิจผันผวน แล้วมาเจอความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นยอดขายรวมของรถจักรยานยนต์ในไทยจะลดลงแน่นอน

 

แหล่งข่าวเจ้าของดีลเลอร์รถจักรยานยนต์รายใหญ่ในเขตภาคกลาง เปิดเผยว่า ถ้ากฎหมายการเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญามีผลบังคับใช้จริง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดรถจักรยานยนต์ และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

 

“กฎหมายฉบับนี้ของ สคบ. อาจจะโหดไปหน่อย จากข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ ซึ่งจะมีผลกับการขายรถจักรยานยนต์มากกว่าธุรกิจรถยนต์” ดังนั้น ภาพธุรกิจจากนี้ไปดีลเลอร์ ที่มีบริษัทปล่อยสินเชื่อเองอาจจะต้องเลิกทำ และส่งการเช่าซื้อไปยังบริษัทไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ ที่สามารถให้ดอกเบี้ยอัตราต่ำที่สุด หรือสู้กับความเสี่ยงต่างๆ ได้ เพื่อให้ยอดขายเดินหน้าต่อไป