ฝีมือหรือดวงดี ทุกการลงทุนคือ การเล่นกับความไม่แน่นอน

23 ก.ย. 2565 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 23:37 น.

ฝีมือหรือดวงดี ทุกการลงทุนคือ การเล่นกับความไม่แน่นอน :คอลัมน์ Investing Tactic โดย กวิน สู่พานิช เจ้าของเพจ Kavin’s Hybrid Trading และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

 

ในช่วงที่ตลาดหุ้นเอื้อต่อการทำกำไรหรือเป็นตลาดขาขึ้น การเห็นกำไรที่เป็นกอบเป็นกำหรือการทำกำไรที่ค่อนข้างง่าย จากทั้งมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาเสี่ยงโชคและมือเก่าที่อยู่ในวงการมายาวนาน ถ้าหากเขียนให้นึกภาพตามเหมือนอยู่ในสภาวะตลาดที่ไม่ว่าจะเลือกเข้าหุ้นหรือสินทรัพย์ไหนก็ตามก็ทำกำไรได้หมด หรือจิ้มอะไรก็บวก จิ้มอะไรก็กำไร ไม่นานมี 10-20% ให้เห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ธรรมดามากในสภาวะตลาดกระทิงดุ (Strong Bull Market) และมักจะตามมาด้วยความมั่นใจที่สูงขึ้น รวมถึงทิฐิ (Ego) ที่เต็มปรอท พร้อมความรู้สึกที่ว่า “เงินจากตลาดนั้นหาง่าย” “เรานี่เป็นหนึ่งในตองอู เป็นเซียนหุ้นคนหนึ่งแน่นอน”

 

บางคนอยากได้รับการเยินยอจากสื่อสังคมออนไลน์ โพสกำไรลงสื่อโซเชียลอวดกำไรกันวันเว้นวัน ซึ่งไม่ผิดเลยที่จะดีใจและยินดีกับกำไร ถ้าหากกำไรนั้นแลกมาด้วย “ความทุ่มเทและความพยายาม” ซึ่งสภาวะตลาดกระทิงที่ยาวนานในบางครั้งกินเวลานานหลายเดือนจนถึงหลักหลายปี ย่อมทำให้นักลงทุนชะล่าใจจนลืมคิดไปว่า บางครั้งผลกำไรที่ได้รับอาจเป็นเพียงความ “ดวงดี” มากกว่า “ฝีมือ”

 

ซึ่งเมื่องานเลี้ยงเลิกรา เสียงเพลงที่ดังสนั่นหยุดลง ตลาดหมี (Bear Market) เริ่มคืบคลานเข้ามา จากที่ได้กำไรแทบทุกการเข้าซื้อกลายเป็นกำไรเพียงบางครั้ง กำไรที่สะสมมาเริ่มลดน้อยลง เริ่มมีอารมณ์อยากเอาคืน ทุ่มเงินให้หนักขึ้น เสี่ยงขึ้น แทนที่จะเป็นการทำกำไรกลับคืนมากลับกลายเป็นการขาดทุนที่หนักขึ้น ซ้ำร้ายเมื่อไม่สามารถออกหุ้นหรือสินทรัพย์นั้นๆ ได้ก็ปลอบใจตนเอง “เดี๋ยวมันก็ขึ้น” เมื่อนั้นครับหายนะอยู่ห่างไปแค่มุมตึก

 

บางท่านที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอัตราทด (Leverage) ถึงขั้นหมดตัวและล้มเลิกความตั้งใจหันหลังให้โลกของการลงทุนไปเลยก็มี แต่ความน่าสะเทือนใจอาจไม่จบเพียงเท่านั้น ในสินทรัพย์ที่มีอัตราทดที่แปลว่ามีการใช้อำนาจเงินที่มาในรูปแบบของการกู้ยืม การโดนบังคับขายอาจจะไม่ได้เป็นบทสุดท้ายของการลงทุน เมื่อเงินที่เหลือจากการโดนบังคับขายไม่เพียงพอต่อการชำระคืนเงินกู้ส่วนที่ขาดไปนั้นก็จะก่อให้เกิดหนี้สินนั่นเอง

 

ถึงตรงนี้อาจจะคิดในใจ แล้วจะพิจารณาได้อย่างไรว่าแท้จริงแล้วที่ได้กำไรมานั้นเป็นเพียงความโชคดีหรือเพราะองค์ประกอบของความโชคดีและฝีมือ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าทุกการลงทุนนั้นคือการเล่น (Bet) กับความไม่แน่นอน รวมถึงความ “ไม่สมบูรณ์แบบ (Imperfect Market Hypothesis)” ของตลาด

 

ดังนั้นทุกการลงทุนคือ “การเสี่ยงโชค” รูปแบบหนึ่งที่สามารถ “จำกัดความเสี่ยง” เพราะฉะนั้น การจะประสบความสำเร็จในโลกของความไม่แน่นอนต้องพึ่ง “ฝีมือ” ส่วนใหญ่ ประกอบกับ “ความเฮงหรือความโชคดี” อีกส่วนหนึ่ง การจะแยกแยะว่า สิ่งที่ได้มานั้นเป็นเพียงความโชคดีหรือไม่นั้น อะไรที่เป็นเครื่องพิสูจน์

 

“ความสามารถในการทำซ้ำและระยะเวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความมั่งคั่งที่ได้มานั้นเป็นเพียงความโชคดีอย่างเดียวหรือมีฝีมือมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้าหากเพียง ”แค่โชคดีจะไม่สามารถทำซ้ำได้หรือไม่มีความสม่ำเสมอ” เปรียบเสมือนการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ถูกหวย” นั่นเองครับ (ทั้งนี้ไม่นับคนที่ดวงดีมาก ๆ นะครับ ที่ถูกหลายครั้งติด ๆ และบ่อยมาก) ต่อให้จำนวนเงินจะมากมายแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถทำซ้ำได้ ความมั่งคั่งของเราจะจบเพียงความโชคดีครั้งนั้นครั้งเดียว

ฝีมือหรือดวงดี ทุกการลงทุนคือ การเล่นกับความไม่แน่นอน

ถ้าหากต้องการประกอบอาชีพหรือเลือกที่จะใช้ชีวิตในโลกของการลงทุนและเก็งกำไร ความสามารถในการอยู่รอดขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำซ้ำค่อนข้างมาก เหมือนการทำธุรกิจถ้าหากธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้ต้องมีกระแสเงินสดและต้องมีกำไร ในการทำซ้ำได้นั้นความหมายที่ซ่อนอยู่ข้างใน คือการทำซ้ำได้ต้องมีสูตรในการทำงานหรือแบบแผนการลงทุนที่ชัดเจนและเหมาะสมกับตัวเรา เพราะถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้การทำซ้ำจะไม่เกิดขึ้น

 

เมื่อมีแบบแผนการลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ใช้แผนการไปสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาจจะคิดว่านี่แหละคือฝีมือแน่นอน ไม่ผิดที่จะพิจารณาไปในทิศทางดังกล่าว แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าจะอยู่รอดได้ในระยะยาว จึงต้องวนมาถึงเครื่องพิสูจน์ต่อไปนั่นคือ “ระยะเวลา” เพราะในทุกสินทรัพย์ล้วนแต่มีรอบของขาขึ้นและขาลงเสมอ หรือที่เรียกว่าวัฏจักร (Cycle) ดังนั้นแล้วการจะพิสูจน์ว่าระบบที่ใช้นั้นสามารถอยู่รอดได้ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าระบบนั้น สามารถผ่านวัฏจักรของตลาดได้อย่างน้อย 1 รอบ

 

แม้ว่าในแต่ละวัฏจักรนั้นมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนกันในทุกช่วงเวลาคือ องค์ประกอบของความโลภและความกลัว (Greed & Fear) ของผู้เล่นในตลาด โดยถ้าหากแผนการของเราสามาถสร้างผลตอบแทนได้ดีในรอบของตลาดที่เป็นใจ และสามารถประคับประคองให้เราอยู่รอดได้ในสภาวะตลาดที่ไม่เป็นใจ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้มานั้นเป็นเพราะฝีมือ

 

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านลองพิจารณาดูหลักการของตนเองว่ามีแบบแผนหรือหลักการลงทุนที่เป็นรูปธรรม รวมถึงแบบแผนได้รับการพิสูจน์ทั้งทางทฤษฎีและในทางปฎิบัติแล้วหรือไม่ โดยการพิสูจน์ในขั้นต้นคือการทำการทดสอบหลักการลงทุนด้วยการเทรดจำลองกับข้อมูลในอดีต (Back Testing) และเมื่อผ่านการเทรดจำลองแล้ว เริ่มนำมาใช้ในการลงทุนด้วยเงินจริง นั่นคือการทำ Forward Testing โดยระยะเวลาที่ใช้นั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการพิสูจน์หลักการลงทุนว่าสามารถใช้ในการลงทุนจริงได้หรือไม่

 

เนื่องจากกรอบระยะเวลาของแผนการขึ้นกับแต่ละบุคคล พอจะกำหนดคร่าว ๆ ได้จากจำนวนครั้งของการลงทุน เช่น 10 ครั้ง ดูผลลัพธ์ว่าเฉลี่ยแล้วการลงทุน ขาดทุนหรือกำไรต่อครั้งเท่าไร และมีการขาดทุนสูงสุดหรือกำไรมากสุดเท่าไร เมื่อครบ 10 ครั้ง มีกำไรเหลือหรือไม่ หรือประสบกับการขาดทุน ซึ่งจะนำมาสู่กระบวนการถัดไปในการอยู่รอดในตลาด

 

นั่นคือการพัฒนาและลดข้อผิดพลาดในการลงทุน เมื่อลงทุนและใช้แผนการไประยะเวลาหนึ่ง จดบันทึกและพิจารณาจากบันทึกการลงทุน หากพบข้อบกพร่อง ก็นำไปพัฒนาระบบให้ดีขึ้น เช่น การวางจุดตัดขาดทุนสั้นเกินไปจนไม่สามารถทนการเหวี่ยงของราคาได้ ทำให้พลาดรอบขาขึ้นรอบใหญ่ของหุ้น ก็สามารถปรับการลงทุนด้วยการลด Position Sizing ให้เล็กลง และเพิ่มช่วงของการตัดขาดทุน (Stop Loss)ให้ลึกขึ้น เป็นต้น

 

สุดท้ายแล้วหลักการลงทุนนั้นไม่มีหลักการที่ตายตัว ย่อมต้องการการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมตลอดคืออารมณ์ของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมีทั้งความโลภและความกลัว ดังนั้น ถ้าหากมีประสบการณ์และความรู้ที่มากพอ ก็จะสามารถปรับแนวทางการลงทุนและหยิบหลักการมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการลงทุนในแต่ละช่วงของวัฏจักรได้ หรืออย่างน้อยก็สามารถที่จะลดการขาดทุนในสภาวะตลาดที่ไม่เป็นใจต่อระบบได้ ข้อสำคัญคือสามารถทำซ้ำได้ โดยเมื่ออยู่ในโลกของการลงทุนที่นานพอ ถ้ารอบของความโชคดีมาบรรจบกับฝีมือ ความมั่งคั่งจะมาหาอย่างคาดไม่ถึง

 

ขอปิดท้ายบทความด้วยคำจำกัดความของคำว่าโชคดีในมุมมองของผู้เขียน “ความโชคดี = การเตรียมความพร้อม (ประสบการณ์) + โอกาส” ถ้าหากโอกาสมาถึง แต่ความรู้และประสบการณ์ของเราไม่พร้อม ก็จะไม่สามารถคว้าโอกาสและความสำเร็จไว้ได้ แต่ถ้า “พร้อม” ทั้งประสบการณ์และความรู้ เมื่อโอกาสมาถึง ความมั่งคั่งก็อยู่แค่เอื้อม ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน ขอบคุณครับ