กองทุนเร่งกู้ 5 หมื่นล้าน จ่ายคืน 4 บริษัทประกันล้ม

15 ก.ย. 2565 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2565 | 20:26 น.
1.8 k

กองทุนประกันวินาศภัย เร่งหาแหล่งเงิน 5 หมื่นล้านบาท ชำระหนี้ 4 บริษัทประกัน ที่โดนโควิดเล่นงานหนัก ถึงขั้นเพิกถอนกิจการ คืบหน้าจ่ายเคลม 4 บริษัท 9,160 รายวงเงิน 717.6 ล้านบาท จ่อเก็บเงินสมทบเต็มเพดาน 0.50% มกราคมปีหน้า หวังเคลียร์สินไหมภายใน 5 ปี

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมากเท่านั้นแต่ยังทำให้บริษัทประกันวินาศภัยล้มหายไปจากระบบถึง 4 แห่งจากการรับประกันภัยโควิด โดยเฉพาะที่เป็นกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งหลังถูกเพิกถอนใบอนุญาต กองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามาทำหน้าที่ชำระบัญชีและจ่ายเคลมสัญญาประกันภัยแทน

 

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กปว.อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของกองทุนประกันวินาศภัยฉบับใหม่ เพื่อมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2566-2570 เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ มีความสำคัญมาก เพราะมาตรงจังหวะที่ภาระกิจของกองทุนกำลังพีค หลังเจอวิกฤตสึนามิโควิด-19 ต้องทำหน้าที่ชำระบัญชี 4 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในคราวเดียวกัน

กองทุนเร่งกู้ 5 หมื่นล้าน จ่ายคืน 4 บริษัทประกันล้ม

 

ทั้งนี้ 4 บริษัท มีเจ้าหนี้เกือบ 7 แสนราย มูลหนี้ขอรับชำระเบื้องต้น 6.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ทั้งระบบงานและคนรองรับไม่ทัน ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ไส้ในจะให้ความสำคัญประเด็นเร่งด่วนคือ การหาเงินทุนวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ 4 บริษัท, กลยุทธ์การทำงานสนองนโยบายรัฐ รวมถึงงบประมาณการลงทุนด้านเทคโนโลยีและบุคลากร

 

 

สำหรับการหาแหล่งเงินให้เพียงพอต่อการชำระหนี้วงเงิน 50,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)ว่า จะเป็นการกู้ทั้งก้อนหรือกู้เป็นรายปี หากกองทุนมีขีดความสามารถในการจ่ายเคลมปีละ 5,000 ล้านบาท ก็จะกู้เฉพาะจำเป็น รวมทั้งดูเงื่อนไขด้วยว่า วิธีการจะเป็นอย่างไร โดยสบน.ให้โจทย์กลับมาว่า จำนวนหนี้ที่แท้จริงเท่าไหร่ รวมถึงขีดความสามารถในการชำระแต่ละปีด้วย โดยให้เสนอกลับไปที่สบน.ภายในเดือนธันวาคมนี้

“เราต้องหารือกับสบน. เพราะมูลหนี้นี้ต้องบริหารจัดการโดยสบน.และเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งมูลหนี้ตามสัญญาที่ขอรับชำระทั้งหมด 65,828.67 ล้านบาทนั้น น่าจะมีตัวเลขนับซ้ำคาดว่า ตัวเลขจริงที่ต้องจ่ายสินไหมตามสัญญาทั้งประกันโควิดและประกันภัยทั่วไปอยู่ที่ 54,377.74 ล้านบาท โดยประมาณ 90% จะเป็นการประกันภัยโควิด”นายชนะพลกล่าว

 

ดังนั้นการทำงานของกองทุนขณะนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้ เพื่อเตรียมจ่ายเคลม โดยเชื่อมโยงระบบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข แต่ปัญหาคือ ผล RT-PCR ที่ต้องการนั้นยังมีเรื่อง เจอจ่ายจบ และเรื่องเงินชดเชยที่ยังตีความในประเด็นความคุ้มครองผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ซึ่งต้องดููรายละเอียดอย่างรอบคอบ เพราะเป็นการจ่ายเงินของรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 กองทุนจะต้องเพิ่มการตรวจสอบให้ได้มากขึ้น จากเดิมที่ตรวจได้ 2,2250 รายต่อเดือน แต่อยากจะเพิ่มอีกเท่าตัวประมาณ 4,500-5,000 ราย วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท เฉลี่ยทั้งปีอาจจะมีขีดความสามารถถึง 6,000 ล้านบาท ซึ่งพยายามคิดหลายช่องทางเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งความตั้งใจในวาระ4 ปี อยากเห็นการจ่ายเคลมให้เหลือน้อยที่สุดภายใน 5 ปี

 

สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเคลมทั้งหมด 4 บริษัทนั้น พิจารณาแล้วเสร็จ 9,160 ราย วงเงิน 717.6 ล้านบาท โดยบมจ. เอเชียประกันภัย 1950 มีเจ้าหนี้ 158,997 ราย มูลหนี้ 3,523.38 ล้านบาท จ่ายเคลมแล้ว 5,067 ราย มูลหนี้ 329.43 ล้านบาท, บมจ. เดอะวันประกันภัย มีเจ้าหนี้ 159,755 ราย มูลหนี้ 11,510.81 ล้านบาท ทยอยจ่ายแล้ว 3,227 ราย มูลหนี้ 293.78 ล้านบาท

 

ส่วน 2 บริษัทคือ บมจ.อาคเนย์และบมจ.ไทยประกันภัย เพิ่งปิดรับชำระไปเมื่อเดือนกรกฎาคม และเริ่มอนุมัติในเดือนสิงหาคม โดยบมจ.อาคเนย์ประกันภัย มีเจ้าหนี้ 275,411 ราย มูลหนี้  32,532.09 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 425 ราย มูลหนี้ 52.1 ล้านบาทและบมจ.ไทยประกันภัย มีเจ้าหนี้ 82,444 ราย มูลหนี้ 18,262.38 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 442 ราย 42.3 ล้านบาท

 

 “ขณะนี้การตรวจสอบเอกสารยังไม่เจอทุจริตใช้เอกสารปลอม แต่เพิ่มเริ่มตรวจสอบเพียง 5% แต่ระหว่างทางอนาคตต้อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หนี้ทั่วไปที่ไม่ใช่สัญญาประกันจะไปเฉลี่ยทรัพย์ในศาลล้มละลายในทางแพ่ง ส่วนกรณีอาญาจะเป็นบทบาทของคปภ. ซึ่งในแง่เอาผิดตัวบุคคลอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ไปให้ถึง”นายชนะพลกล่าว

กองทุนเร่งกู้ 5 หมื่นล้าน จ่ายคืน 4 บริษัทประกันล้ม

นอกจากนั้น กองทุนยังรับหน้าที่จ่ายเคลมอีก 4 บริษัทเก่าที่อยู่ระหว่างทยอยชำระจำนวน 11,741 ราย มูลหนี้ 1,538.29 ล้านบาท ได้แก่ บมจ.สัจจะ เหลือเจ้าหนี้ 387 ราย มูลหนี้ 183.31 ล้านบาท, บมจ.เจ้าพระยา มีเจ้าหนี้ 4,952 ราย  มูลหนี้ 241.31 ล้านบาท บมจ.สัมพันธ์ประกันภัย มีเจ้าหนี้ 2,716 ราย มูลหนี้ 853.1 ล้านบาทและ เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแพล อินชัวส์รัน มีเจ้าหนี้ 3,686 รายมูลหนี้ 260.55 ล้านบาท

 

สำหรับรายได้ปัจจุบันของกองทุนอยู่ที่ 650 ล้านบาทต่อปี จากการนำส่งเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัยในอัตรา 0.25% ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนกำลังเสนอคปภ.เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบให้ปรับเงินนำส่งสมทบเป็นเต็มเพดานที่ 0.50% ซึ่งให้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ทำให้กองทุนมีรายได้นำส่งเพิ่มเป็น 1,300 ล้านบาทต่อปี 

 

ทั้งนี้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกองทุนยังต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายและการเชื่อมข้อมูล ที่สำคัญต้องไม่มีบริษัทถูกเพิกถอนอีก และการวางหลักประกันกับนายทะเบียน โดยอนาคตควรจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้บริษัทมีฐานะการเงินมั่นคงและกองทุนจะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือบริษัท ซึ่งดีกว่าปิดการแล้วเข้าไปชำระบัญชี ทั้งนี้อาจจะต้องให้มีการวางหลักประกันเพื่อประชาชน และต้องวางหลักประกันเพื่อตัวของบริษัทเองด้วย

กองทุนเร่งกู้ 5 หมื่นล้าน จ่ายคืน 4 บริษัทประกันล้ม

นอกจากนี้กองทุนยังมีบทบาทพัฒนาให้บริษัทประกันมีประสิทธิภาพผยุงฐานะบริษัทโดยไม่ต้องปิดกิจการ ที่สำคัญกฎหมายต้องเปิดช่องให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างคปภ. กปว.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้จะมีฐานข้อมูลแต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ หากบริษัทถูกเพิกถอนหรือต้องการความช่วยเหลือกปว.สามารถเข้าไปมีส่วนช่วย

 

ส่วนเรื่องเร่งด่วนระบบฐานข้อมูล ระบบไอทีระหว่างหน่วยงานกำกับและบริษัทประกันภัยเพื่อให้เอื้อและดูแลกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับทั้งบริษัทมีฐานะที่มั่นคง  กรณีโรคอุบัติใหม่หากไม่มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ก็ไม่ควรจะรับประกันภัยดังกล่าว