สมาคมแบงก์ถก “คลัง-ธปท.”เงินนำส่งFIDFกลับสู่อัตราเดิม 0.46%

07 ก.ย. 2565 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2565 | 04:15 น.

สมาคมแบงก์ถก “คลัง-ธปท.”ชะลอหรือทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเงินนำส่งFIDF เผยเป็นหนึ่งในองค์ประกอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องพิจารณาควบคู่กับดอกเบี้ยนโยบาย ย้ำหลักการดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นสำคัญ

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนดจะยกเลิกการปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)หรือกองทุนฟื้นฟูฯ จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23%ต่อปีกลับสู่อัตราเดิมที่ 0.46% ในวันที่ 1 มกราคม 2566 นั้น

สมาคมแบงก์ถก “คลัง-ธปท.”เงินนำส่งFIDFกลับสู่อัตราเดิม 0.46%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยว่า  เรื่องการนำส่งเงินเข้าสู่FIDFในอัตราเดิมที่ 0.46%ภายในต้นปีหน้านั้น 

 

ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพูดคุยกันระหว่างสมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และธปท. ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและความเหมาะสม    เพราะธนาคารเป็นผู้ปฏิบัติ 

ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนระยะเวลาการชำระกลับสู่อัตราเดิมออกไป หรือยังไม่ปรับเพิ่มจากอัตราที่ลดลง 0.23% ซึ่งตอนที่ปรับลดเงินนำส่งลงเหลือ 0.23%นั้น ธนาคารได้ส่งผ่านทุกบาททุกสตางค์  โดยการปรับดอกเบี้ยในระบบลดลงประมาณ 0.50% และมีการตรวจสอบโดยธปท.อยู่แล้ว  ฉะนั้นตอนกลับขึ้นก็เป็นต้นทุนที่แท้จริงจะต้องถูกส่งผ่าน  

 

ทั้งนี้  เงินนำส่งFIDFเป็นต้นทุนตั้งแต่ประเทศไทยกระทบจากต้มยำกุ้งซึ่งต้นทุนยังสูง โดยดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ 1.5 หรือ 1.7%ต่อปี แต่ตอนนี้ไม่ถึง 1.0%ในเชิงของระบบการจะปรับอัตราดอกเบี้ยกลับสู่ภาวะปกติ แต่ต้องดูแลกลุ่มเปราะบาง ขณะที่เงินนำส่งดังกล่าวเป็นของกระทรวงการคลังซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เช่นกัน

 

 

“ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เราจะต้องดูดอกเบี้ยนโยบาย และเรื่องการกลับไปนำส่งเงินFIDFในอัตราเดิมที่ 0.46% ซึ่งเป็นต้นทุนโดยตรงที่ชาร์จากฐานผู้ฝากเงิน รวมถึงการระดมทุน และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ โดยเงินนำส่งFIDFนั้นเป็นต้นทุนตั้งแต่ต้มยำกุ้งที่เรายังคืนภาระหนี้ของประเทศไม่ครบ  เพราะฉะนั้นต้องดูว่า ตรงนี้จะต้องค่อยๆประคองอย่างไร   ซึ่งอยากให้การปรับเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

 

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น  โดยธรรมชาติจะเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ก่อนซึ่งค่อยๆทะยอยขึ้นไป  แต่ละธนาคารก็ต้องไปดูกลุ่มเปราะบางของตัวเองซึ่งในหลักการให้น้ำหนักกับการดูแลกลุ่มเปราะบาง  ซึ่งธปท.ให้ความสำคัญมาก ทั้งติดตาม พูดคุยกับธนาคารและให้ธนาคารส่งแผนดูแลกลุ่มเปราะบางครบถ้วนหรือไม่ และมีมาตรการอะไรออกมาไม่ได้เหมาเข่ง

 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างกลุ่มเปราะบางแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน  ตอนนี้กำลังเน้นสินเชื่อเพื่อการปรับตัว หลังจากจบมาตรการเยียวยา ซึ่งทรัพยากรในระบบที่มีจำกัดจะต้องประคองให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านและปรับตัวให้ได้  รวมทั้งธนาคารเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน