จุฬาฯ เผยผลวิจัยพบคนไทยมีความพร้อมหลังเกษียณต่ำกว่า 40%

06 ก.ย. 2565 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2565 | 05:58 น.
786

จุฬาลงกรณ์ฯ เผยผลวิจัย “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” พบค่าเฉลี่ยคนไทยมีเงินออมหลังเกษียณอยู่ที่ 40% แนะประชาชนตระหนักรู้ประโยชน์ของการออม ขณะที่ภาครัฐต้องมีบทบาทสนับสนุนทักษะทางการเงิน และนายจ้างต้องดูแลคุณภาพชีวิตลูกจ้างทั้งในวัยทำงานและหลังเกษียณ

รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนในประเทศไทยหลังเกษียณ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล 
    

ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน ซึ่งการมีความพร้อมจากการมีความสุข ด้านสุขภาพสูงกว่าความพร้อมจากความสุขด้านการเงิน ดังนั้นต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่ง 

 

หลังเกษียณต้องใช้เงินเท่าไร

 

โดยก่อนหน้านี้มีการสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่

 

สำหรับผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรกคือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ

ตามด้วยฝั่งนายจ้าง ที่ควรมองว่าการดูแลพนักงานไม่ใช่ดูแลเฉพาะเวลาที่ทำงานกับองค์กร แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานกับนายจ้างแล้วควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ทำอย่างไรนายจ้างจะส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว และต้องคิดว่าถ้าลูกจ้างมีความมั่นคงในชีวิตแล้วโปรดักส์ทิวิตี้ของคนก็ดีขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น ใครยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ก็ควรต้องมี 

 

แนะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด

 

อย่างไรก็ตาม ขอชักชวนแรงงานในระบบใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด ต้องรู้ว่าตัวเองสามารถลดหย่อนได้ 15% ไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้นสิ่งที่ใส่ใน PVD, สิ่งที่ใส่ไปซื้อ RMF สิ่งที่ไปซื้อประกันสุขภาพที่มีการออมเพื่อเกษียณนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จึงอยากให้ทุกคนออมผ่านรูปแบบไหนก็ได้ ให้ได้สัดส่วน 15% ของรายได้

 

“ตอนนี้เชื่อว่าโดยเฉลี่ยทุกคนอยู่ใน PVD ที่ 5% ยังมี Gap อีก10% เพราะเมื่อไหร่ที่ออมต่ำกว่า 10% ต่อไปชีวิตลำบากแน่ ดังนั้นขั้นต่ำต้อง 15% หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่ถ้าสูงกว่า 30% ถือว่าดี แต่หากถ้าต่ำกว่า 10% อนาคตต้องพึ่งพาการถูกลอตเตอรี่, ได้มรดก หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้คือการออมจากประโยชน์ที่ได้จากทางภาษี และหากใครมีการออมเกิน 15% อยู่แล้วให้ใส่ความรู้ด้านการลงทุนเข้าไปด้วย” รศ.ดร.พรอนงค์ กล่าว 


รศ.ดร.พรอนงค์ กล่าวแนะนำการออมสำหรับแรงงานนอกระบบว่า ขอให้มีวินัยด้านการออม หากระบบที่มีอยู่ยังไม่เอื้อจะต้องขวนขวายด้วยตัวเอง เช่น การเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงเข้าสู่การออมใน RMF เป็นต้น ฉะนั้นขอให้ปรับพฤติกรรมใหม่ คือ สร้างวินัยการออม โดยเฉพาะอาชีพอิสระไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยง ควรปรับสัดส่วนการออมและความสม่ำเสมอ จากที่เคยพบพฤติกรรมการออมคือออมจำนวนมากในครั้งเดียวแล้วหายไป 3 ปี หลังจากนั้นเมื่อเก็บเงินได้ใหม่จึงจะออมอีกครั้งหนึ่ง 

 

ทั้งนี้ หวังว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยการออมของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากการเริ่มทำวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน ได้พบว่าระบบบำนาญครอบคลุมในสัดส่วน 40:60 แต่ปัจจุบันกลับหัวเป็นสัดส่วน 60:40 หมายความว่าตัวเลขดีขึ้น แต่ยังไม่เร็วพอกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด ดังนั้น ต้องตระหนักรู้ให้เร็วและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

สำหรับอุปสรรคการออมหลังเกษียณที่ทำให้การเกษียณไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประชาชนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าอุปสรรคคือความเสี่ยงอื่นๆ เช่น การเข้ามาของโควิดที่ทำให้คนออกจาก PVD จำนวนมาก แต่อยากบอกว่าแม้โควิดไปเชื้อโรคตัวใหม่ก็จะเข้ามา ต่อไปอุปสรรคคือความเสี่ยงจะมาเร็วและมาแรงขึ้น เช่นโควิด หรือสงคราม ทุกอย่างจะเข้ามาเรื่อย ๆ อย่าให้เรื่องเหล่านี้มากระทบวินัยการออม