อาคม เล็ง ชง ครม. เพิ่มเงินสมทบ กอช. สร้างหลักประกันหลังเกษียณ

02 ก.ย. 2565 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2565 | 20:48 น.

คลัง เร่งพิจารณาแนวทางเพิ่มเงินสมทบ สมาชิก กอช. หวังสร้างหลักประกันให้ชีวิตหลังเกษียณ พร้อมฝากภาคธุรกิจประกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์สังคมสูงวัย-ผลกระทบโลกร้อน ย้ำธุรกิจประกันต้องบริหารความเสี่ยงธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเป็นเงินออมไว้ดูแลสมาชิก กอช. หลังวัยเกษียณ ให้มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอัตราที่ได้รับเงินหลังเกษียณถือว่าต่ำเกินไป ส่วนจะสมทบในอัตราเท่าใดนั้น คาดว่าจะชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งจะต้องมีการเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. อีกครั้ง

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุด้วย เนื่องจากประเทศไทย ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้น

 

“การเพิ่มเงินเดือนให้สมาชิก กอช. หลังวัยเกษียณ เป็นแนวคิดที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ จะได้มีเงินเลี้ยงดูแลตัวเองหลังอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงแม้วัยเกษียณไปแล้ว แต่ยังทำงานได้  และยังมีเงินเดือนจากกอช. มาสบทบแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน" นายอาคม กล่าว

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุและความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย" ในงานเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 2 ว่า

 

ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้ความสำคัญกับสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงในชีวิต

 

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันโควิดจะคลี่คลายลง แต่ก็ยังมีการกลายพันธุ์ ดังนั้นจึงเป็นอีกปัจจัยที่ภาคธุรกิจประกันจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อสร้างระบบความคุ้มครอง ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ซื้อประกันได้รับความคุ้มครองตามที่ได้เสียเงินในการซื้อเบี้ยประกันไว้

 

นายอาคม ยังฝากถึงภาคธุรกิจประกัน ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ การออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชลประทาน ท่าเรือ หรือ สนามบิน เป็นต้น ซึ่งในต่างประเทศจะมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทดังกล่าว แต่ไทยยังไม่มี ซึ่งหากภาครัฐต้องการทำประกันดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลต่อภาระในด้านงบประมาณให้เพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ยังแนะให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย เพื่อสร้างความมั่นคงหลังเกษียณ เพราะระบบประกัน ถือเป็นแหล่งระดมเงินออมที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ

 

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจประกันยังสามารถจับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สิน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น