โดยธรรมชาติการลงทุนหุ้น “มีขึ้น มีลง” ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นที่ดีมีคุณภาพก็จะมีช่วงเวลาที่ราคาลงได้เช่นกัน เช่น เมื่อมีข่าวหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เข้ามากระทบ เช่น ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจและตัดสินใจขายหุ้นออกไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากนักลงทุนมีเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างยาวนาน เช่น 15 ปี หรือ 20 ปี การปรับนโยบายลงทุนในหุ้นอาจมีความยืดหยุ่นสูง ตรงกันข้ามกับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแต่ยังคงแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในหุ้น อาจมีคำถามว่า หากเศรษฐกิจกำลังถดถอยควรขายหุ้นออกไปทั้งหมดหรือไม่?
ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นและข้อแนะนำในเรื่องนี้ว่า แม้ว่าสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของคนวัยเกษียณจะเล็กน้อย เช่น 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม เช่น มีเงินลงทุนทั้งหมด 2 ล้านบาท แบ่งเงินไปลงทุนในหุ้น 5% คือ 1 แสนบาท หากขาดทุนหุ้นก็จะเหลือเงินลงทุน 1 ล้าน 9 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม เงินทั้งหมดที่เก็บออมสำหรับวัยเกษียณนั้น “ทุกบาท ทุกสตางค์มีความหมาย” เพราะเป็นเงินก้อนสุดท้ายเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เช่น หากใช้เงินเดือนละ 8,333 บาท เงิน 1 แสนบาทจะสามารถใช้จ่ายได้นานถึง 1 ปี ดังนั้น เมื่อคนวัยเกษียณกังวลว่าจะขาดทุนก็สามารถขายหุ้นเพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้ แล้วรอจังหวะที่ดีค่อยกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง เพราะอย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของการลงทุนสำหรับวัยดังกล่าว คือ การรักษาเงินต้นไม่ให้สูญหาย ไม่ใช่การสร้างผลกำไรในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ขายหุ้นออกไปเท่านั้น ยังมีอีกหลายวิธีที่ทำแล้วสามารถรอดจากมรสุมทางเศรษฐกิจ แต่ก่อนตัดสินใจลงมือทำควรพิจารณาปัจจัยเบื้องต้น ดังนี้
ตรวจสอบเงินสดสำรอง หากวัยเกษียณกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของตลาด ควรตรวจสอบเงินสดสำรองว่าอยู่ในระดับที่ทำให้เกิดความสบายใจและเพียงพอสำหรับค่าครองชีพในชีวิตประจำวันหรือไม่ หากเงินสดสำรองเพียงพออาจไม่จำเป็นต้องขายหุ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินว่าสถานการณ์ผันผวนเป็นเพียงระยะสั้น เช่น 1 ปี แต่ถ้าประเมินว่ามีโอกาสเกิดวิกฤติและกินเวลายาวนาน เช่น 3 – 5 ปี ก็อาจขายหุ้นทั้งหมด
แต่ประเด็นที่จะยุ่งยากตามมาหลังขายหุ้น คือ จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรเพื่อไม่ให้เสียโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ควรคำนึงถึงระดับอัตราเงินเฟ้อก่อนตัดสินใจขายหุ้นด้วย
จัดสรรสินทรัพย์ลงทุน หากประเมินว่าเศรษฐกิจถดถอยมาแน่ ควรพิจารณาส่วนผสมของการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมดให้ละเอียดยิ่งขึ้น และหากมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกินเวลานาน เช่น 2 – 3 ปี และทำให้พอร์ตลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น มีความเสี่ยงมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็ควรปรับลดน้ำหนักการลงทุนแล้วโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การลงมือจัดพอร์ตลงทุนควรเป็นตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น ต้องการคุ้มครองเงินลงทุน ต้องการสร้างรายได้ประจำ หรือต้องการเพิ่มค่าเงินลงทุน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ พอร์ตลงทุนต้องสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้
ทบทวนอัตราการถอนเงินมาใช้จ่าย ผลการวิจัยในปี 1994 โดย William Bengen นักวางแผนการเงินชาวอเมริกัน ได้ทำการศึกษาประวัติผลตอบแทนจากการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 – 1990 สรุปได้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ หากจัดพอร์ตลงทุนที่ดี โดยเน้นลงทุนระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนได้สูงและเพียงพอที่จะสามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ประมาณปีละ 4% โดยไม่ทำให้เงินต้นหมดหรือลดลง และถึงแม้จะลดลงก็จะลดลงอย่างช้ามาก
จากผลการวิจัยก็ได้รับการต่อยอดเป็น กฎของการถอนเงิน 4% Rule of Thumb นั่นคือ สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้ในอัตรา 4% ของเงินตั้งต้น จากนั้นในปีถัด ๆ ไปก็ถอนเงินออกมาใช้ในอัตรา 4% บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ก็จะช่วยให้มีเงินใช้เพียงพอและไม่ต้องกังวลว่าเงินลงทุนจะหมดไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็ควรเตรียมวางแผนปรับเปลี่ยนการใช้จ่าย โดยเฉพาะการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ด้วยการประหยัดและระมัดระวังการถอนเงินออกมาใช้จ่าย หรือหากเป็นไปได้ควรถอนเงินออกมาใช้ต่ำกว่า 4% เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เป็นขาลง
นอกจากการปรับเปลี่ยนการวางแผนการเงิน การมีวินัยกับการใช้จ่ายเพื่อให้รอดในช่วงเศรษฐกิจถดถอยของคนวัยเกษียณแล้ว การพยายามออกห่างจากความผันผวนก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้จิตไม่ตก เช่น ไม่ควรดูพอร์ตลงทุนทุกวัน ลดการดูข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เช่น ดูกีฬา ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร อ่านหนังสือ วาดรูป หรือพูดคุยกับลูกหลาน ก็จะทำให้เกิดความสุขท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจได้
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , setinvestnow.com