ธปท.จ่อออกนโยบาย-นิยามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมกำกับ “แบงก์-ธุรกิจ”

23 ส.ค. 2565 | 18:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2565 | 01:55 น.

ธปท.วางกรอบผลักดันแบงก์เปิดเผยข้อมูลกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว เตรียมออกแนวนโยบายคุมไตรมาส 3ปีนี้ พร้อมออกนิยามมาตรฐานเพื่อให้แต่ละภาคส่วนใช้ประเมินสถานะเฟสแรก “กลุ่มพลังงานและภาคการขนส่ง”คาดแล้วเสร็จต้นปี66

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า  ธปท.ได้เปิดรับความฟังความคิดเห็น “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ Financial Landscape”

 

โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน และนับจากวันเผยแพร่แนวนโยบาย “Financial Landscape”  (เมื่อก.พ.2565)  ธปท.ได้ทยอยออกนโยบายแต่ละด้านเพื่อเพิ่มความชัดเจน รวมถึงความเชื่อโยงของภาคการเงินในระยะข้างหน้า 

 

 

เริ่มจากแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่เน้นสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวตกรรมและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเช่นการ การอนุญาตให้กลุ่มธนาคารทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างค่อยเป็นค่อยไป 

 

 

รวมถึงแนวโนโยบายกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ เช่นการกำกับธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง รถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อยกระดับ การคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลการก่อหนี้ของครัวเรือน  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน

ครั้งนี้ ธปท.เสนอแนวนโยบายภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ  เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงเห็นได้จากแรงงานไทย 1ใน 3ที่อยู่ในภาคเกษตร ถูกกระทบจาก Climate change

 

ซึ่งไทยติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบด้านนี้  ตามดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index ในปี 2564 อีกทั้งการผลิตอีกกว่า 13% ของจีดีพีในภาคอุตสาหกรรทไยยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป 

 

สำหรับไทยยังมีบางจุดที่ปรับตัวช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จากความสามารถในการรับภัยธรรมชาติของไทยอยู่ยังอันดับ 39 จาก 48 ประเทศ แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้วโดยบริษัทไทยถึง 24บริษัทเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่SMEs ที่มีสายป่านสั้นยังปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันให้ปรับตัวก่อน

 

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงดังกล่าว ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญ เพราะมีหน้าที่จัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจ และสามารถจูงใจให้เกิดการปรับตัวได้ อีกทั้งภาคการเงินมีส่วนได้เสียจากลูกหนี้และครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบซึ่งการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนโดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด โดยไม่ดำเนินการเร็วเกินไปจนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ไม่ช้าเกินไปจนเกิดผลกระทบลุกลาม และแก้ไขได้ยาก  

 

ธปท.จึงได้กำหนดแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงกรอบเวลาขั้นตอนขับเคลื่อนให้สอดคล้องกัน

 

“ภาคการเงินจะสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจะขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลสัมฤทธิ์ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดเป้าหมาย  แนวทางระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนภาคธุรกิจต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวให้สอดคล้องมาตรฐานสากล  ทันการณ์ เพื่อแข่งขันและอยู่รอดได้ ขณะที่ประชาชนต้องตระหนักถึงผลกระทบและทยอยปรับการใช้ชีวิต”

ธปท.จ่อออกนโยบาย-นิยามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมกำกับ “แบงก์-ธุรกิจ”

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าภายในไตรมาสที่ 3/2565 จะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ

 

ทั้งนี้จะทำควบคู่กันกับการกำหนดนิยามที่เป็นมาตรฐานกลางเพื่อกำหนดและจัดกลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) เพื่อให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2566โดยจะเริ่มกำหนดนิยามเฟสแรก 2กลุ่มคือ พลังงานและขนส่งโดยจะเริ่มต้นปีหน้า  ก่อนจะทำเฟสสอง ในกลุ่มเกษตร และอุตสาหกรรม  เพราะเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูง

 

ขณะเดียวกันจะผลักดันให้สถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึง แผนกลยุทธ์  เป้าหมายในต้นปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อสีเขียว เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก หรือกรีนบอนด์ เป็นต้น

 

ซึ่งธปท.จะมีการติดตามการทำงานของสถาบันการเงินเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น 1 ใน 3 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนสินเชื่อสีเขียวหรือสิ่งแวดล้อมเท่าไร โดยสถาบันการเงินจะต้องมีการส่งรายงานให้กับธปท.ทุกปี โดยแต่ละสถาบันการเงินอาจจะมีเป้าหมายแตกต่างกันตามขนาดและธุรกิจ แต่อย่างน้อยทำตามเกณฑ์มาตรการฐานขั้นต่ำที่กำหนด

 

ส่วนข้อดีข้อเสียการปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากจะส่งผลต่องบดุลหากสถาบันการเงินไม่ทำด้านสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันนักลงทุนและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากสถาบันการเงินสามารถดำเนินงานได้ ก็จะมีผลดีต่อCredit Ratingในการเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่ดี  และผู้ประกอบการปรับตัวได้โดยไม่เป็นอุปสรรค

 

 “เราอยากให้แบงก์ปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายเรื่อง Green เพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ได้อยากเห็นการดึงร่มจากลูกค้า หรือตัดสินเชื่อถ้ารายไหนที่ยังไม่กรีน   แต่อยากให้แบงก์และธุรกิจค่อยๆ ปรับตัวจากสีเหลืองสู่สีเขียวมากขึ้น เพราะเรามีการค้าขายกับต่างประเทศ ถ้าช้าเราจะตกขบวนและส่งผลกระทบในระยะยาวได้”

    

สำหรับการขับเคลื่อนแผนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ไปในทิศทางและเป้าหมายนั้น ต้องมีการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน  

(1)     ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างตรงจุด

 

(2)     จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ปี 2566 เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

 

(3)     ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

 

(4)     สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่ SMEs ในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่

 

(5)     ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม