"สารัชถ์" ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีเบอร์ 1 แซง "เจ้าสัวธนินท์-เจริญ"

18 ส.ค. 2565 | 17:43 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 00:55 น.
6.4 k

"สารัชถ์" ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีเบอร์ 1 แซง "เจ้าสัวธนินท์-เจริญ" ด้วยความมั่งคั่งกว่า 420,000 ล้านบาท จากการจัดอันดับ The World’s Real-time Billionaires โดยนิตยสาร Forbes

สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ล่าสุดขึ้นแท่นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในประเทศไทยจากการจัดอันดับของ The World’s Real-time Billionaires โดยนิตยสาร Forbes ด้วยความมั่งคั่งกว่า 420,000 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ เป็นการแซงหน้า “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 4.17 แสนล้านบาท  และ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ที่มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท 2 เจ้าสัวใหญ่ของประเทศไทย 

นอกจากการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงที่ผ่านมา Gulf Energy Development เริ่มรุกเข้าไปในธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หรือการประกาศความร่วมมือกับ Binance แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อตั้งศูนย์ซื้อขายในไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

ด้านบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ได้แก่ อีลอน มัสก์ ประธานกรรมการบริหารของเทสล่า มอเตอร์ และ SpaceX ฯลฯ ด้วยทรัพย์สิน 268,400 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือ 9,581,880 ล้านบาท ลดลง 0.65 %

 

สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ของ GULF นั้น มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 24,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1-3 (รวม 1,987.5 เมกะวัตต์) ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปในปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 

 

ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการ ภายใต้กลุ่ม GMP อันเนื่องมาจากราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 2/2564 

ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนีนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย Capacity Factor เฉลี่ยสูงขึ้นจาก 21% ในไตรมาส 2/2564 เป็น 24% ในไตรมาสนี้ 

 

อย่างไรก็ดี ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วง low season เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง high season ซึ่งมี Capacity Factor เฉลี่ยอยู่ในระดับ 40-50% นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 อีกด้วย
 

ในส่วนของกำไรขั้นต้นจากการขายในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 4,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% หรือเพิ่มขึ้น 1,645 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 19.2% ลดลงจาก 24.0% ในไตรมาส 2/2564 โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 238.56 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาส 2/2564 เป็น 422.71 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 77% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3230 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.1698 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง 

 

สำหรับกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,680 ล้านบาท หรือ 120% จากไตรมาส 2/2564 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรจากโครงการ GSRC หน่วยที่ 1-3 ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2564 เดือนตุลาคม 2564 และเดือนมีนาคม 2565 และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาท 

 

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ของ GULF
 


นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2565 PTT NGD ซึ่งเป็นโครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับ ปตท. นั้น ได้บันทึกส่วนแบ่งกำไรเท่ากับ 273 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 332% เทียบกับไตรมาส 2/2564 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากโครงสร้างรายได้นั้น ผูกกับราคาน้ำมันเตา

 

กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2565 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จาก 1,407 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 6% จาก 33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 35.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/2565 ซึ่งเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด
 

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.89 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.79 เท่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เนื่องจากการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน